กพท. ชี้ตั๋วเครื่องบินราคาแพงขึ้น 515% หลังโควิดระบาด

355
แชร์ข่าวนี้

กพท. เผยราคาตั๋วเครื่องบินไตรมาส 2 ปีนี้แพงขึ้น 515% หลังโควิดระบาดหนัก พร้อมระบุ ไทยแอร์เอเชีย ครองแชมป์บินมากสุด สัปดาห์ละ 351 เที่ยวบิน

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าโดยสารสายการบิน เส้นทางภายในประเทศ ประจำไตรมาส 2/2563 ว่าสถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ยังคงส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทางเครื่องบินยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารยังคงมีความผันผวน

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสารสูงสุด และต่ำสุด เส้นทางบินภายในประเทศในไตรมาส 2/2563 เทียบกับไตรมาส 1/2563 พบว่าภาพรวมค่าโดยสารมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเส้นทางบินที่ค่าโดยสารสูงสุด มีค่าโดยสารปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 17 เส้นทาง และเส้นทางบินที่ค่าโดยสารต่ำสุด มีค่าโดยสารปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 73 เส้นทาง โดยเพิ่มขึ้นสูงสุด 515% ได้แก่ เส้นทางเชียงราย – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และเชียงใหม่ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)

ส่วนเส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดลดลงมีจำนวน 58 เส้นทาง และเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำสุดลดลงมีจำนวน 5 เส้นทาง โดยลดลงต่ำสุดประมาณ 80% ในขณะที่เส้นทางที่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เปลี่ยนแปลงรวม มีจำนวน 5 เส้นทาง และเส้นทาง ที่ค่าโดยสารต่ำสุดไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวน 2 เส้นทาง

“ขณะนี้มีปัจจัยบวกจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ของรัฐบาลผ่านมาตรการ “เที่ยวปันสุข” แพ็คเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐบาลจ่ายเงินสมทบ ค่าโดยสารเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศสูงสุดเป็น 2,000 บาทต่อ บัตรโดยสารไป/กลับ ซึ่งอาจทำให้สายการบินมีการปรับเพิ่มค่าโดยสารขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 3/2563 สำหรับเส้นทางเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยว แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้สายการบินต้องปรับเพิ่มค่าโดยสารอย่างระมัดระวัง”

รายงานข่าวจาก กพท.แจ้งว่ากลุ่มเส้นทางที่ไม่ควบคุมค่าโดยสาร มีค่าโดยสารสูงสุด 1,950 บาท ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่ – อุดรธานี แต่มีสายการบินให้บริการ 1 ราย คือ ไทยไลอ้อนแอร์ ส่วนเส้นทางที่มีค่าโดยสารต่ำสุด 650 บาท ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่ – อู่ตะเภา ให้บริการโดยไทยไลอ้อนแอร์

ส่วนกลุ่มเส้นทางที่มีระยะทางบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร และมีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก ซึ่งเพดาน ค่าโดยสารมาตรฐานกำหนดไว้ที่ 22 บาทต่อกิโลเมตร มีการให้บริการเพียง 4 เส้นทาง จากปกติ 10 เส้นทาง พบว่า มีสายการบินให้บริการเพียงรายเดียว ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส โดยเส้นทางตราด – สุวรรณภูมิ มีค่าโดยสารสูงสุด 4,920 บาทต่อเที่ยว หรือ 18.85 บาทต่อกิโลเมตร และ เส้นทางเดียวกันมีค่าโดยสารต่ำสุด เท่ากับ 1,930 บาทต่อเที่ยว หรือ 7.39 บาทต่อกิโลเมตร

สำหรับเส้นทางที่ควบคุมค่าโดยสาร ที่มีระยะทางบินเกินกว่า 300 กิโลเมตร และมีการให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งกำหนดเพดานค่าโดยสารไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร มีจำนวน 26 เส้นทาง โดยมีสายการบินให้บริการจำนวน 2 ราย ได้แก่ บางกอกแอร์เวยส์ และไทยสมายล์ พบว่า เส้นทาง สมุย – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เป็นเส้นทางที่มีค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 5,690 บาท โดยมีสายการบินให้บริการจำนวน 1 ราย ในขณะที่เส้นทางที่มีค่าโดยสารต่ำสุด คือ เส้นทางภูเก็ต – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) มีค่าโดยสารเท่ากับ 1,330 บาท โดยมีสายการบินให้บริการจำนวน 1 รายเช่นกัน

ส่วนเส้นทางที่ควบคุมค่าโดยสาร ที่มีระยะทางบินเกินกว่า 300 กิโลเมตร และมีการให้บริการแบบต้นทุนต่ำ ซึ่งกำหนดเพดานค่าโดยสารไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร มีจำนวน 56 เส้นทาง โดยมีสายการบินให้บริการจำนวน 4 ราย ได้แก่ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท

โดยค่าโดยสารสูงสุดคือ เส้นทางหาดใหญ่ –กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ของสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 4,875 บาท โดยเส้นทาง ดังกล่าวมีสายการบินให้บริการ 3 ราย ส่วนค่าโดยสารต่ำสุดของเส้นทางกลุ่มนี้เท่ากับ 586 บาท ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – กระบี่ ของไทยเวียตเจ็ท โดยมีสายการบินให้บริการ 1 ราย

นอกจากนี้ ยังพบว่า มี 2 สายการบินการจำหน่ายบัตรโดยสารที่มีค่าโดยสารต่ำกว่า 1 บาทต่อกิโลเมตร จำนวน 5 เส้นทาง คือ ไทยเวียตเจ็ท1เส้นทาง และไทยไลอ้อนแอร์จำนวน 4เส้นทาง แต่มีจำนวนลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีจำนวนถึง 41 เส้นทาง เพราะปัจจัยโควิดทำให้ไม่สามารถขายในราคาต่ำได้

“เมื่อพิจารณาความสามารถในการ ให้บริการเส้นทางภายในประเทศของ 6สายการบิน คือบางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท พบว่า ไทยแอร์เอเชียและนกแอร์มีสัดส่วนเส้นทางภายในประเทศ เท่ากันที่ 25% รองลงมาคือ ไทยไลอ้อนแอร์ 19 % ไทยสมายล์14% บางกอกแอร์ 9 %ไทยเวียจเจ็ต 8% แต่ไทยแอร์เอเชียยังคงเป็น ผู้นำตลาดด้านจำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์ และจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์

โดยมีจำนวน เที่ยวบินต่อสัปดาห์สูงสุด 351 เที่ยวบิน ลดลงจากไตรมาสก่อน 78.6% และมีจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์ 63,122 ที่นั่ง ลดลง 76.9 %รองลงมาคือ นกแอร์ ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3/2563 สายการบินต่างๆจะทยอยเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศทั้งหมด”

cr. ข่าวสด


แชร์ข่าวนี้