โบรกมองขยายเพดานหนี้เป็น70%หวังกระตุ้นศก.

177
แชร์ข่าวนี้

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า การระบาดของ COVID-19 กดดันให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเป็นวงกว้าง หนุนให้ภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 /2563 เช่น จ่ายเงินเยียวยา (เราไม่ทิ้งกัน), ฟื้นฟูเศรษฐกิจ (เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ, เรารักกัน, เติมเงินในบัตรสวัสดิการ, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน) เป็นต้น

แม้มาตรการต่างๆ จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยเอาไว้ได้ แต่ก็ส่งผลให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันสะท้อนจากหนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 55.59% ของ GDP จนใกล้กรอบเพดานที่ 60% ของ GDP โดยหนี้สาธารณะที่ใกล้ชนเพดาน มีโอกาสกดดันการออกมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ๆในอนาคตได้

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐเริ่มพิจารณาปรับเพิ่มกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ของ GDP เป็น 70% ของ GDP ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่าจะช่วยให้รัฐมีช่องทางการกู้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท

ฝ่ายวิจัยรวบรวม เม็ดเงินที่รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปี 2563-ปัจจุบัน Vs. ในอนาคต คือ

-ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน รัฐอนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วจำนวน 1.12 ล้านล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก กู้เงิน 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน จึงมีวงเงินคงเหลือ 3.79 แสนล้านบาท

– หากรัฐขยายกรอบการกู้อีก 2 ล้านล้าน จะช่วยให้กรอบวงเงินใหม่เพิ่มเป็น 2.38 ล้านล้าน

ความคาดหวังการขยายกรอบการกู้เงินของรัฐ ช่วยหนุนความหวังว่าในอนาคตจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 และเบื้องต้นคาดว่ารูปแบบน่าจะคล้ายกัยมาตรการที่เคยดำเนินการไป เช่น เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน และหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก, กลุ่มห้างสรรพสินค้า

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้