สศค.หั่นGDPปี64โต1%,ปีหน้า4%

178
แชร์ข่าวนี้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1 ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากมาตรการควบคุมโรคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความคืบหน้าในการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดลง รวมทั้งได้มีแผนการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป จะส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ภาคการขนส่ง ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิงรวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ16.3

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2565 ภาครัฐมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาทรวมทั้งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งอาจจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และการขนส่งระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และ ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก


แชร์ข่าวนี้