คลังจ่อชงแยกกองทุนชราภาพออกจากประกันสังคม

355
แชร์ข่าวนี้

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุ กระทรวงการคลังอาจเสนอให้กองทุนชราภาพแยกออกจากกองทุนประกันสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวรวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพราะเกิดความกังวลว่าสถานะกองทุนประกันสังคมในอีกราว 15 ปีข้างหน้า จะมีเงินที่จ่ายให้กับผู้ประกันตนโดยเฉพาะเงินบำนาญไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้าที่มาจากสมาชิกจ่ายให้กับกองทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนชราภาพโดยเป็นหนึ่งในกองทุนในกองทุนประกันสังคม เพื่อจ่ายเป็นบำนาญรายเดือนกับสมาชิกที่เกษียณอายุจากการทำงาน และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กองทุนประกันสังคมกำหนด คือ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

การบริหารเงินกองทุนชราภาพภายใต้กองทุนประกันสังคมอาจไม่มีความยืดหยุ่น เรื่องจากบริหารภายใต้ระบบราชการ หากบริหารแล้วขาดทุนอาจจะต้องรับผิดชอบ ขณะที่การบริหารในรูปแบบที่เป็นภาคเอกชนมีความคล่องตัวมากกว่า เช่น รูปแบบการบริหารเงินกองทุนบำเหน็ดบำนาญของข้าราชการ (กบข.)

ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติร่าง พระราชบัญญีติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และอยู่ในชั้นการตรวจร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อกำกับดูแลกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งมีอยู่หลายกองทุนและกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน เพื่อให้การบริหารมีเอกภาพและประสิทธิภาพ

โดย ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายแผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมผู้พ้นวัยทำงานทั้งหมด เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นธรรม และยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการหรือกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญของภาครัฐและเอกชน และเพื่อให้นโยบายด้านบำเหน็จบำนาญเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง มีเป้าหมายที่ต้องการให้คนที่เกษียณแล้ว มีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ณ ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2564 กองทุนประกันสังคม มีสมาชิก 16.51 ล้านคน มีเงินรวมอยู่ในกองทุน 2.317 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณี สงเคราะห์บุตร และชราภาพ อยู่ 2.029 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87.57 % ของเงินกองทุนทั้งหมด

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้