“ชลน่าน”เมินคนมองเพื่อไทย ขัดแย้งก้าวไกล

170
แชร์ข่าวนี้

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีสภาล่มที่หลายฝ่ายมองว่าพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทยได้มีปัญหากันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ไม่ถือเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองก็มีวิธีในการทำงานต่างกัน โดยการทำงานแบ่งออกเป็นไปตามหลักทั่วไป เมื่อฝ่ายค้านมีความเห็นว่าจะต้องร่วมกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

โดยเฉพาะการเมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤต และไม่ปกติที่เห็นได้ชัดว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีความแตกแยก ซึ่งเป็นสัญญาณส่งให้เห็นว่าเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ใช่เสียงข้างมากอีกต่อไป และกลับกลายมาเป็นเสียงข้างน้อย

เนื่องจากองค์ประชุมของฝ่ายรัฐบาลไม่เคยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ที่จะต้องมีเสียงกึ่งหนึ่ง คือ 238 เสียง ถือเป็นหลักที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภาที่ปกครองโดยเสียงข้างมาก เคารพสิทธิ์ข้างน้อย ซึ่งจะปล่อยให้เสียงข้างน้อยมาปกครองประเทศไม่ได้ จึงเป็นมติของฝ่ายค้านว่าจะขอตรวจสอบองค์ประชุม

ทั้งนี้ ยืนยันว่าฝ่ายค้านมาทำงานและลงชื่อในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ซึ่งหากรัฐบาลไม่พร้อมที่จะทำงานฝ่ายค้าน ก็ไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยได้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายข้างน้อยทำหน้าที่เป็นเสียงข้างมาก ข้อปฏิบัติดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นต่อเมื่อมีการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ ก็จะมีมติโดยเฉพาะเรื่องไปทั้งองค์ประชุมและการลงมติ

ขณะเดียวกัน ตามแนวทางการปฏิบัติขั้นต้น ตนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอรับผิดที่อาจจะทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากการตัดสินว่า เรื่องใดสำคัญหรือไม่ ทางวิปฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ เนื่องจากฝ่ายค้านยอมรับกันเรื่องของสิทธิของแต่ละพรรคว่า จะมีความเห็นเป็นองค์ประชุมในเรื่องใด โดยจะไม่ก้าวล่วงซึ่งกันและกัน

ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ พร้อมย้ำว่าทางพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต่างยึดหลักใหญ่ทำงานร่วมกัน และไม่มีความขัดแย้งระหว่างกันตามระบบประชาธิปไตย ยิ่งมีความเห็นต่างยิ่งดี ซึ่งความเห็นต่างจะต้องมีข้อสรุปชัดในการอธิบายต่อประชาชนเจ้าของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านไม่ทำงาน ยืนยันว่า นี่คือการทำงานของฝ่ายค้าน หากรัฐบาลไม่พร้อม ก็ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมให้อยู่ทำงานต่อ ส่วนที่มองว่าฝ่ายค้านกดดันให้รัฐบาลยุบสภา โดยการไม่อยู่เป็นองค์ประชุมนั้น ขออย่านำมาเป็นประเด็น ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรรัฐบาลก็ไม่ยอมยุบสภา

โดยขณะนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่กล้าที่จะเสนอกฎหมายที่สำคัญเข้าสภา เช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พระราชบัญญัติกู้เงิน ซึ่งหากไม่ผ่านมติจากสภานายกรัฐมนตรีจะต้องยุบสภา

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้