“สุชาติ” เร่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ป้อนโลจิสติกส์

295
แชร์ข่าวนี้

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มุ่งยกระดับฝีมือทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยใช้แนวทางประชารัฐสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน โดยเน้นสร้างทักษะฝีมือให้คนรุ่นใหม่ส่งเสริมการจ้างงานให้แก่ผู้ไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีงานทำ ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์ให้แก่นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในช่วงระหว่างปี 2558-2563 ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันจัดการเรียนการสอนและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่กำลังแรงงานและนักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 4 สาขา ได้แก่ ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1-2 ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1-2 นักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1-2 และผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 มีผู้ผ่านการทดสอบ จำนวน 804 คน

นายประทีป กล่าวต่อว่า สำหรับการต่อยอดความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์ที่จะเริ่มต้นในปี 2565 นั้น มีแนวทางร่วมกันจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตั้งเป้าดำเนินการไม่น้อยกว่าปีละ 300 คน ซึ่งนักศึกษาที่จบการศึกษาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจด้านโลจิสติกส์ เช่น บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นต้น และจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจการจัดการสินค้าอันตรายและการขนส่งข้ามแดน ตั้งเป้ามีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 500 คน พร้อมขยายความร่วมมือให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

โดยร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1-2 ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1-2 นักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1-2 และผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ให้บริการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม อุดรธานี ชลบุรี และระนอง นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดฝึกอบรมยกระดับทักษะฝีมือแรงงานด้านการเชื่อมโลหะแรงดันสูงอัตโนมัติ ตั้งเป้าดำเนินการปีละไม่น้อยกว่า 4000 คนต่อปี เพื่อผลิตช่างเชื่อมฝีมือรองรับตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงแรงงานเพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างโอกาสให้แก่นักศึกษาและกำลังแรงงานได้เข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ได้สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้