“สุชาติ” แจงแนวทางนำแรงงานต่างด้าวทำงานตาม MoU

174
แชร์ข่าวนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานตาม MoU (ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ) และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ตามแนวทางของศบค.

 

แต่ก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าว และหลังเดินทางเข้ามาจะต้องตรวจสุขภาพ 6 โรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและโรคต้องห้าม รวมทั้งตรวจ ATK หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้นนายจ้างสามารถรับเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย หากพบเชื้อโควิด – 19 กรณีเป็นกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ กรณีสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาล ในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

 

“สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันไม่ได้มีความยุ่งยาก เช่นช่วงก่อนผ่อนคลายมาตรการแล้ว การปรับมาตรการของศบค.ในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุดมีการยื่นดีมานต์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวตามระบบ MOU แล้ว 236,012 คน โดยแบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 165,376 คน กัมพูชา 52,428 คน และลาว 18,208 คน ซึ่งแรงงานทั้ง 3 สัญชาติมีการทยอยเข้ามาทำงานตาม MOU แล้วอย่างต่อเนื่องกว่า 1 หมื่นคน ในส่วนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 64 มีการเดินทางเข้ามาทำงานและขออนุญาตทำงานแล้วกว่า 2 หมื่นราย” กล่าว

 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการปรับมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร (Name List) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19 กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

 

1.) นายจ้างยื่นแบบแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (ม.64) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด

2.) แสดงหนังสือผ่านแดน (Border Pass)

3.) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19

4.) กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 หรือหลักประกันอื่น

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้