เปิดภาพใจกลางอุทยานหลังจ่อรื้อฟื้นถนน

318
แชร์ข่าวนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านี่คือพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ซึ่งเมื่อ 34 ปีก่อน เส้นทางสายนี้เป็นทางหลวงหมายเลข 4189 เชื่อมต่ออำเภอพิปูน กับ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

อดีตถูกใช้เป็นถนนสายยุทธศาสตร์สลายกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ใช้พื้นที่ย่านนี้เป็นฐานที่มั่นจนในที่สุดฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปปฏิบัติการจนนำไปสู่การสลายพื้นที่สีแดงได้จนสำเร็จ แต่เมื่อปี 2531

เส้นทางสายนี้ได้เกิดภัยพิบัติจากภาวะน้ำป่า น้ำท่วมดินถล่มจนไม่สามารถใช้การได้ และป่าได้เข้ากลืนพื้นที่ตามวิถีธรรมชาติจนถนนกลายเป็นป่าไปแล้วโดยสมบูรณ์

โดยเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งผู้สื่อข่าว ได้เข้าติดตามเดินป่าใช้เวลา 2 คืน 3 วันเพื่อสำรวจเส้นทางสายนี้ตามหลักวิชาการ หลังจากที่มีความพยายามจากภาคประชาชนและฝ่ายการเมือง

เข้าบุกเบิกเส้นทางนี้กลับอีกครั้ง เพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพพันธุ์พืช และความหลากหลายของสัตว์ป่า พบว่าตลอดเส้นทางราว 20 กิโลเมตร เต็มไปด้วยความหลากหลายพบร่องรอยช้างป่าจำนวนมากมีทุกช่วงวัย ตั้งแต่ช้างแรกเกิดไปจนถึงจ่าโขลงขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางรอยเท้ามากกว่า 50 ซม. มีร่องรอยของการพักโขลงเป็นช่วงๆ

ซึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่ประจำ รวมทั้งเส้นทางหากินของสมเสร็จสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ เก้งหม้อ เลียงผา กวางป่า หมูป่า นกป่าหายากหลากสายพันธุ์ รวมทั้งไม้ป่าขนาดใหญ่ตลอดเส้นทางหากมีการบุกเบิกอีกครั้งจะต้องทำลายไม้เหล่านี้จำนวนมหาศาลตลอดเส้นทาง 20 กิโลเมตร

ส่วนสภาพพื้นถนนเดิมนั้นหลายจุดถูกน้ำป่าตัดขาดหายไปกว่า 200-300 เมตร เป็นช่วงๆ บางจุดถล่มกลายเป็นเหว ส่วนที่ยังเหลือร่องรอยของผิวแอสฟัลล์เมื่อกว่า 30 ปีก่อนนั้นปัจจุบันอยู่ในสภาพผุกร่อน หลุดร่อนตามกาลเวลา รวมทั้งมีไม้ใหญ่เจริญเติบโตกลืนเป็นสภาพป่าสมบูรณ์ อีกหลายจุดกลายเป็นห้วยขนาดเล็ก และขนาดกลาง ไม่เหลือสภาพขอความเป็นถนนอยู่อีกแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เข้าสำรวจระบุว่าการเข้าสำรวจนั้นเพื่อติดตามบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพตามหลักวิชาการ ซึ่งพบว่ามีความหลากหลายและสมบูรณ์อย่างมาก สัตว์ป่าขนาดใหญ่โดยเฉพาะช้างมีอยู่เป็นจำนวนมาก

หากมีการเปิดถนนผ่านใจกลางอุทยานนี้อีกครั้งนั้นยอมรับว่ามีความกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวิถีของสัตว์ป่า โดนเฉพาะช้างที่เป็นโขลงสุดท้ายของผืนป่าในภูมิภาคนี้ รวมทั้งความหลากหลายของสัตว์ป่า

ยังไม่รวมถึงผลกระทบระยะยาวที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งทุกขั้นตอนในความพยายามรื้อฟื้นให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หากฝ่ายการเมือง หรือภาคประชาสังคมเห็นว่าพร้อมที่จะแลกกับสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้กับการหลีกเลี่ยงเส้นทางเลือกอื่นๆ อาจเป็นผลดีต่อความยั่งยืนของทรัพยากร

 

  

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้