“ขมิ้น”สมุนไพรเศรษฐกิจไทยสร้างรายได้เกษตรกร

177
แชร์ข่าวนี้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสทางการค้าสินค้าขมิ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง (Product Champion) สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งวัตถุดิบสมุนไพร เครื่องเทศ สารสกัด น้ำมันหอมระเหย อีกทั้งสามารถเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงร่างกาย และเครื่องสำอาง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดูแลรักษาสุขภาพ และสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสมุนไพรได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ สะท้อนให้เห็นจากมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยข้อมูล Euromonitor International ระบุว่า ในปี 2564 การค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวม 53,868 ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดไทยอยู่อันดับที่ 8 ของโลก โดยการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดไทย มีมูลค่า 1,425.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่า 1,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.31

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าขมิ้นของโลก โดยในปี 2564 การค้าขมิ้นของโลกมีมูลค่า 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม โดยไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้น อันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2.88 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของโลก ตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ อินเดีย มีสัดส่วนร้อยละ 66.1 ของมูลค่าการส่งออกขมิ้นทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ

ซึ่งการศึกษาโอกาสทางการค้าสินค้าสมุนไพรไทย จะช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งโดดเด่นและมีชื่อเสียงในระดับโลก

โดยขมิ้นของไทยหากได้รับการส่งเสริมที่ดีมีโอกาสในการพัฒนาและสร้างมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นได้อีกมาก โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ชุมชน และเกษตรกร ต้องบูรณาการการทำงานและให้ความร่วมมือกัน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ รวมถึงสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมุนไพรของไทย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้