“จุรินทร์” จับมือ”ดอน”ประชุมรมต.เอเปคก่อนส่งไม้นายกฯ

161
แชร์ข่าวนี้

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการการต่างประเทศและอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไม่อยากเห็นการด้อยค่าผู้นำประเทศในเวทีเอเปคและปิดโอกาสทองของไทย ดังนั้น ในฐานะกรรมาธิการการต่างประเทศมีความเป็นห่วงว่าเวทีระดับโลกที่ปรากฏชื่อประเทศไทยบนแผนที่โลกครั้งนี้จะถูกทำลายเพียงคนไม่กี่คนนั้น ย่อมมิได้จึงอยากให้รัฐบาลทำความเข้าใจคนเหล่านั้นก่อนเวทีสุดยอดผู้นำจะเริ่ม

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอเปคของประเทศไทย คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนผู้นำประเทศไทย คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับชาติอื่นนั้น บทบาทของรัฐมนตรีเอเปค 2 คน คือนายจุรินทร์และนายดอนจะต้องทำหน้าที่จัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

จากนั้นผู้นำจะประชุมกันวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายน 2565 โดยสาระสำคัญของภารกิจวันที่ 17 คือ การจะนำประชุมในประเด็น เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล ซึ่งเป็น Theme ของการประชุม โดยจะนำไปสู่แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีเอเปคหรือประธานก่อนที่ผู้นำจะมีการประชุมกัน โดยหน้าที่ตรงนี้ทั้ง 2 คนจะเป็นผู้กุมบังเหียนการหารือ เจรจา หาข้อยุติ ตกลง ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายขยายการค้าขายระหว่างกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะรองรับสถานการณ์หลังโควิด-19 ซึ่งสาระตรงนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและศักยภาพรวมทั้งการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนคนไทยและไม่ให้เสียเปรียบชาติใดในเวทีโลกโดยเปิดโอกาสให้ประเทศและประชาชนเชื่อมโลกผ่าน 21 เขตเศรษฐกิจนี้

โดยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศไทยกับเอเปคในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 315,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.31% ซึ่งคิดเป็น 69% ของการค้ารวมทั้งหมดของประเทศไทย โอกาสของประเทศไทยจะมีโอกาสของตลาดการค้าโดยประชากรรวมกัน 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือ 2,900 ล้านคน หรือ 38% ของประชากรโลก ที่สำคัญประเทศไทยก็ขยายการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศจากตลาดเหล่านี้มาเป็นจำนวนมากและเป็นที่ชื่นชมของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากรายได้จากการส่งออกกลายเป็นขาหลักในการช่วยประเทศชาติไว้ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ได้คอยแถลงข่าวทุกเดือนเกี่ยวกับผลความสำเร็จด้านการค้าและการส่งออกประเทศเราได้รับความชื่นชมและการตอบรับจากทั่วโลกเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำประเทศมาอยู่ในจุดนี้ที่ประชาคมโลกหารือเจรจากัน คือ เวทีที่จะนำประเทศเปิดตลาดการค้าเพื่อนำรายได้เข้ามาดูแลประชาชนภายในประเทศและเป็นโอกาสของทั้งคนตัวเล็กตัวน้อยโดยเฉพาะเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ คือ การเพื่อโอกาสให้ไปถึงระดับฐานราก กลุ่มเปราะบางทุกเพศทุกวัยและถ้าเป็นผู้ประกอบการก็ตั้งแต่ระดับ เอ็มเอสเอ็มอี และ เอสเอ็มอี (MSME -SME ) ขึ้นไป จึงเป็นโอกาสของประชาชน

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้