“รังสิมันต์” แฉสัมพันธ์ “หลานตู่-ธรรมนัส-ประวิตร” โยงทุนคดีตู้ห่าว

144
แชร์ข่าวนี้

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย ทั่วไปตามมาตรา 152 ซึ่งถือเป็นไฮไลท์การอภิปรายของช่วงดึก ถึงการปราบปรามยาเสพติดข้ามชาติ โดยสรุปว่า หลังนายกรัฐมนตรีประกาศไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตำรวจกองบังคับการสืบสวนนครบาล จับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด 3-4 กลุ่ม เป็นกลุ่มรับซื้อยาบ้าจากเมียนมานำมาขายต่อ

โดนจ่ายเงินผ่านบัญชีม้า ที่มีผู้รับจ้างเปิด ส่วนคนควบคุมบัญชีที่แท้จริงอยู่นอกประเทศ ส่วนที่เข้าบัญชีม้าแล้ว พบว่าถูกนำไปโอนต่อเข้าบัญชีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ธุรกรรมลักษณะนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2550 ในนาม 3 บริษัท คือ 1.บริษัท เมียนมา อัลลัวร์ 2.บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป และ 3.บริษัท อัลลัวร์ พีแอนด์พี ทั้งหมดนี้คือความพยายามอำพรางเงินที่ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 65 ในจำนวนผู้ต้องหาที่ ตำรวจกองบังคับการสืบสวนนครบาล ชื่อ ทุน มิน ลัต เป็นชาวเมียนมา มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมาอย่างยาวนานกับชายไทยคนหนึ่ง ชื่อย่อ อ. หรือเรียกได้อีกชื่อว่า อ.ทรงเอ คนนี้เป็นผู้ก่อตั้งและเคยถือหุ้นใน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป และเคยร่วมกับ ‘ตุน มิน ลัต’ ก่อตั้งเมียนมา อัลลัวร์ เป็น 2 บริษัทที่พัวพันกับคดีฟอกเงิน

นาย อ. คนนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในการเลือก นาย อ. มา คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และสุดท้ายจบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตนไม่เชื่อว่าจะไม่รู้ว่า นาย อ. พื้นเพเป็นคนอย่างไร

เมื่อทราบว่า ทุน มิน ลัต ทาง ส.ว. อ. ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ยอมรับว่ารู้จัก แต่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรเท่าไหร่ แถมหลายปีแล้ว ตนหันไปสนใจพระพุทธศาสนา ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจแถวชายแดน หุ้นที่เคยมีในบริษัทที่เมียนมาได้ขายหุ้นไปทั้งหมดแล้ว ก่อนมาเป็น ส.ว.

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ ได้เปิดแชต ที่ระบุว่า ส.ว. อ. ได้เสนอให้ นาง ป. ถือหุ้นบริษัทอัลลัวร์ พีแอนด์พี พร้อมทั้งรายงานเรื่องในบริษัทให้ ส.ว. อ. ทราบ อีกทั้ง ทุน มิน ลัต ยังมีการส่งสลิปค่าซื้อไฟฟ้าให้ ส.ว. อ. รับทราบด้วย อีกทั้งมีอีกหลายสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ส.ว. อ.ไม่ได้วางมือไปไหน แต่ต่อมา ตำรวจมีการขอศาลออกหมายจับ ส.ว. อ. แต่ก็มีการให้ถอนหมายจับ และให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกแทน ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผู้รับผิดชอบหลักในการสืบสวนสอบสวนและจับกุมเครือข่าย ทุน มิน ลัต ก็ถูกโยกย้ายไปจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ด้วย

ส.ส.รังสิมันต์ ระบุว่า มีคนไม่อยากให้ ส.ว. อ. ถูกดำเนินคดี พร้อมทั้งเปิดข้อมูลว่า เมื่อเดือนเมษายน 2563 บริษัท UPA ซึ่ง ส.ว. อ. เคยเป็นเจ้าของได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในซอยอารีย์ 5 และพัฒนาเป็นสำนักงานขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันก็คือที่ตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์

จากนั้น นายรังสิมันต์ ได้อภิปราย ประเด็นทุนจีนสีเทาคดีตู้ห่าว หรือนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว 9 ข้อหา แต่มีอีกหลายเรื่องที่น่าเชื่อว่า จะมีกระบวนการล้มคดีนี้ โดยขอถามถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่นำค้นผับจินหลิง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ควรนำเร่งรัดคดี รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่หรือเพราะว่า นายตู้ห่าว ไปเกี่ยวข้องกับหลานชาย เจ้าของห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น มีบริษัทปล่อยเช่ารถทัวร์ให้ตู้ห่าว โดยโรมตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการฟอกเงิน

นอกจากนี้ ได้เปิดรูปถ่ายของนายตู้ห่าว กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ พร้อมระบุ ดูก็รูปว่าตู้ห่าวมีความสนิทสนมกับ ร.อ.ธรรมนัส อีกทั้งเดือนพฤษภาคม ปี 2564 มียอดเงินบริจาคจากนายตู้ห่าว เข้าพรรคพลังประชารัฐ 3,000,000 บาท ชี้ชัดว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ดึงกลุ่มจีนเทามาสนับสนุนทางการเงินให้กับพรรคแกนนำรัฐบาล

ส.ส.รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตราบใดที่ ‘ไทยเทา’ พวกนี้ยังมีอยู่ อาชญากรรมที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงก็จะมีอยู่ ต้องเริ่มจากการกำจัดกองขยะที่มีอยู่กลางบ้านคือคนพวกนี้ก่อน

ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงยืนยันว่าไม่ได้รู้จักบุคคลที่กล่าวอ้างถึง กรณีที่มีภาพถ่าย เนื่องจากขณะนั้นได้รับหน้าที่เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดยการประชุม APEC ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นชาวจีนที่มาอาสาดูแลรถรับ – ส่งให้กับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุม และขอถ่ายภาพร่วมเพียงเท่านั้น ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้