ค่าเงินบาทวันนี้ 21 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

13044
แชร์ข่าวนี้

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยจากโซนแนวรับดังกล่าว

โดยในวันนี้ มองว่า แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ เนื่องจากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องได้ แต่คงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทนั้น อาจต้องรอลุ้นการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่ ซึ่งจะขึ้นกับทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยมองว่า ตลาดการเงินจะมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะ ฝั่งยุโรป (จะรับรู้ราว 15.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) และฝั่งสหรัฐฯ (จะรับรู้ราว 20.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ดังกล่าว โดยหากดัชนี PMI ฝั่งยุโรป (รวมของทั้งอังกฤษและยูโรโซน) ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง เช่นเดียวกันกับช่วงการรายงานดัชนี PMI ฝั่งสหรัฐฯ หากข้อมูลไม่ได้แย่กว่าคาด (ซึ่งตอนนี้ผู้เล่นในตลาดกำลังกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ ซึ่งต้องจับตาว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 102.5 จุด ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นสัญญาณสะท้อนว่า ดัชนีเงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซน 103 จุด ขึ้นไป

ในช่วงนี้ คงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้มองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Tesla -9.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 245,000 ราย และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือนเมษายน ก็ดิ่งลงสู่ระดับ -31.1 จุด ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.60%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวลดลงต่อราว -0.15% ท่ามกลางแรงขายจากผู้เล่นในตลาดที่ต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์ (BMW -3.6%, Mercedes -3.4%, Porsche -2.6%) จากความกังวลต่อสงครามราคา หากรถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย Tesla ยังมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดราคาขายลงต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อบอนด์หลังบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม, รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ซึ่งเริ่มมีการส่งสัญญาณว่ารอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.54% ทั้งนี้ คงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ได้ เช่น รอซื้อสะสมหลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 101.8 จุด หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอลงมากขึ้น อาจทำให้เฟดใกล้จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็สอดคล้องกับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วน ที่แม้จะสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม แต่ก็ออกมาระบุว่า รอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดใกล้สิ้นสุดลง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นจากโซนแนวรับแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนราคาแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวต้านแรกในช่วงระยะสั้น ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วน ทำให้ราคาทองคำย่อลงบ้างสู่ระดับ 2,016 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเริ่มจากในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวในภาคการบริการ หลังญี่ปุ่นได้เปิดประเทศมาสักระยะแล้ว โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนเมษายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุด ส่วนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมก็อาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามภาพเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่ยังคงสดใส แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 49.9 จุด ได้

ถัดมาในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซน รวมถึงอังกฤษยังมีแนวโน้มที่ดี โดยดัชนี PMI รวมของภาคการผลิตและภาคการบริการ (Composite PMI) เดือนเมษายน อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 54 จุด สำหรับยูโรโซน และอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 จุด สำหรับอังกฤษ

และในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อาจกดดันให้ภาคการผลิตยังคงหดตัวอยู่ ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนเมษายน ที่อาจลดลงสู่ระดับ 49 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ทั้งนี้ แม้ภาวะเงินเฟ้อสูงอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้คนในสหรัฐฯ แต่โดยรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการจะยังคงได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการหรือคาดการณ์ผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงต่อได้

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้