เงินดิจิทัล 10,000 บาท สรุปจะใช้บล็อกเชน หรือแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง กันแน่ ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สังกัดพรรคเพื่อไทย เฉลยแล้ว
กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น หลังจากที่ชาวเน็ตมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี จะให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปว่า การทำนโยบายเงินดิจิทัลหากดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่าการสร้างแอปฯ ใหม่ ซึ่งเหมาะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ถ้ารัฐบาลจะยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาทมาใช้ก่อนนั้น คงต้องพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ เนื่องจากตามกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32% ของงบประมาณ (1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งขณะนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ
“ประเดิมงานแรกของนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง โครงการที่กู้ยืมเงินรัฐวิสาหกิจยังมีปัญหา อีกอย่างคือ ไม่อยู่ในงบประมาณ เท่ากับไม่ต้องผ่านสภาฯ ไม่ต้องโดนสภาตรวจสอบตอนอนุมัติงบ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องช่องทางการจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่านโยบาย Digital Wallet จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สรุปข้อมูลโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ใครได้บ้าง: คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ประมาณ 50 ล้านคน
- การลงทะเบียน: ไม่ต้องลงทะเบียน จะเข้าบัญชีอัตโนมัติ
- เริ่มวันที่เท่าไหร่: 1 กุมภาพันธ์ 2567
- วิธีใช้เงินดิจิทัล: ดาวน์โหลดแอปที่ผูกกับบัตรประชาชน แล้วใช้ QR Code จ่ายเงิน
- ถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน: ใช้บัตรประจำตัวประชาชนและ QR Code ที่รัฐออก
- ถอนเป็นเงินสดได้ไหม?: ไม่ได้
- ใช้ที่ไหน: ร้านค้าในรอบ 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ทะเบียนบ้าน
- ซื้ออะไรได้: อาหาร, เครื่องดื่ม, ยารักษาโรค, ของใช้ประจำวัน
ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook