สวยและรวยมาก : ความแซ่บและฉลาด ที่ทำให้ “มาเรีย ชาราโปวา” ทำเงินไม่มีหยุด

235
แชร์ข่าวนี้

เป้าหมายแรกของนักกีฬาอาชีพทุกคน ล้วนคือการเป็นแชมเปี้ยน อยู่เป็นอันดับ 1 ในวงการของตัวเอง

อย่างไรก็ตามนั่นคือภูเขาลูกแรก ที่เมื่อนักกีฬาหลายคนสามารถข้ามได้แล้ว แต่กลับไม่สามารถข้ามภูเขาลูกที่สองไปได้… และภูเขาลูกนั้นมีชื่อว่า “ขวัญใจมหาชน” 

เรื่องดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่สำหรับ มาเรีย ชาราโปว่า มันกลับตรงกันข้าม เธอทำมันได้โดยธรรมชาติและแทบไม่ต้องปรุงแต่ง ถึงแม้เธอจะไม่ได้เก่งที่สุดเมื่ออยู่บนคอร์ท แต่นอกสนามนั้นแทบไม่มีใครล้มเธอจากตำแหน่งแชมป์ได้เลย … แม้กระทั่งวันที่เธอโดนแบนร่วม 2 ปี เธอก็ยังไม่เดือดร้อนเรื่องเงินอยู่ดี

ติดตามเรื่องราวความแซ่บและความฉลาดที่เปลี่ยนเด็กสาวอพยพจากรัสเซียที่มีเงินติดตัวแค่ 700 ดอลลาร์ให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการเทนนิสได้ที่นี่

ที่สุดของการเป็นขวัญใจ 

ฉายา “นางฟ้ามาเรีย” ของ มาเรีย ชาราโปว่า นักเทนนิสหญิงจากรัสเซีย มีจุดเริ่มต้นจากภาพลักษณ์ของเด็กสาวหน้าตาน่ารักชวนดู แถมยังมีสไตล์การเล่นที่ดุดันสะใจตั้งแต่แจ้งเกิดในวงการตั้งแต่อายุ 17 ปี

หน้าตาที่สะสวยสวนทางกับการเล่นที่ดุดัน เธอมีลูกเสิร์ฟที่รุนแรงหวังผลได้ วิ่งเก็บทุกลูกเหมือนกับมีสามปอด และทุกครั้งที่หวดกลับ เธอใส่พลังผ่านเสียงที่ตะโกนดังลั่นสนาม 

ด้วยสไตล์การเล่นดังกล่าวทำให้ ชาราโปว่า ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อป 5 ของโลก และขึ้นมือ 1 อยู่บ่อยๆ อีกทั้งยังมีแชมป์แกรนด์สแลมอย่าง วิมเบิลดัน ในปี 2004 และ ยูเอส โอเพ่น ในปี 2006 การันตี จนกระทั่งเธอเริ่มมีปัญหาที่หัวไหล่ในช่วงปี 2007 เป็นต้นมา ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่หัวไหล่จนไม่สามารถเล่นสายเสิร์ฟและบ้าพลังเหมือนเก่าได้ ชาราโปว่า จึงเบนสไตล์เปลี่ยนมาเล่นสายเทคนิค ซึ่งปลายทางก็ไม่ต่างกันนักคือการประสบควาสำเร็จระดับแชมเปี้ยน

หลังจากการผ่าตัดที่ไหล่ ชาราโปว่า คว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพ่น ในปี 2008 และ เฟร้นช์ โอเพ่น อีก 2 สมัยในปี 2012 และ 2014 รวมถึงเหรียญเงินเเทนนิสหญิงเดี่ยวในการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน ปี 2012  

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ภูเขาลูกแรกสำหรับนักกีฬาอาชีพคือการเป็นแชมป์ แต่ภูเขาลูกที่ 2 คือการเป็นขวัญใจมหาชนต่างหากที่ ชาราโปว่า สามารถปีนได้ง่ายดายยิ่งกว่าภูเขาลูกแรกเยอะ

สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ คือเธอเป็นคนมีเสน่ห์ ชนิดไม่ว่าใครเห็นก็ต้องยอมรับ หน้าตาสะสวย ผิวพรรณดี และรูปร่างเพอร์เฟ็กต์เหมือนกับนางแบบ ดังนั้นเมื่อมีต้นทุนพวกนี้บวกกับการมีฝีมือและไปถึงตำแหน่งแชมเปี้ยนด้วยแล้ว มาเรีย ชาราโปว่า จึงเป็นเป้าหมายของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่พร้อมจะทุ่มไม่อั้นเพื่อให้ได้เธอมาร่วมงาน 

นับตั้งแต่คว้าแชมป์วิมเบิลดันในปี 2004 ชาราโปว่า ก็กลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับสินค้าดังๆ อย่าง นาฬิกา แท็ก-ฮอยเออร์, กล้อง แคนอน, โทรศัพท์มือถือ โมโตโรล่า และ โซนี่, รถยนต์ แลนด์ โรเวอร์ กับ ปอร์เช่, น้ำอัดลม เป๊ปซี่, โรลออนดับกลิ่น ปาล์มโอลีฟ รวมถึงบ่อเงินบ่อใหญ่ของเธออย่าง อุปกรณ์กีฬา ไนกี้

“มาเรีย ชาราโปว่า ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการสร้างมูลค่าให้กับตัวเอง เธอเป็นผู้ชนะทั้งในและนอกสนาม เพราะความเป็นคนที่มีเสน่ห์ที่ดึงดูด และยังเป็นนักกีฬาฝีมือดีอีกด้วย” เคิร์ท บาเดนเฮาเซ่น นักเขียนของ ฟอร์บส์ อธิบายถึงการเป็นขวัญใจมหาชนของ ชาราโปว่า 

นอกจากนี้นิตยสาร Forbes ได้ยืนยันรายได้ของ ชาราโปว่า จากทุกแบรนด์ที่กล่าวมาว่า มากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดอาชีพนักเทนนิสของเธอ และเธอยังครองแชมป์นักเทนนิสหญิงที่มีรายรับสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี

หนึ่งในสิ่งที่เธอทำเสมอ คือความไนซ์ต่อสปอนเซอร์ทุกตัวที่เข้ามา ชาราโปว่า ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ขี้วีนเท่าไหร่นักจากการเปิดเผยของผู้ร่วมงานกับเธอ ตัวแทนของ เอวิยอง แบรนด์น้ำแร่ที่เคยเซ็นสัญญากับ ชาราโปว่า เล่าว่า นักเทนนิสสาวชาวรัสเซียนั้นได้ตัดสินใจเลือกน้ำดื่ม เอวิยอง ให้เป็นสปอนเซอร์ เพราะตัวของเธอนั้นชื่นชอบน้ำยี่ห้อนี้อยู่แล้ว จึงทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและ ชาราโปว่า ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ เอวิยอง จดจำไม่ลืม 

“เรารักที่จะทำงานกับ มาเรีย ชาราโปว่า เธอทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นคนเฮลท์ตี้ชัดมาก และยังเป็นตัวแทนของคนที่สามารถลองทำหลายสิ่งหลายอย่างจนคุ้มค่ากับชีวิต” โอลิเวีย ซานเชซ รองประธานฝ่ายการตลาดของ เอวิยอง กล่าว 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าเธอคือภาพจำ และเป็นตัวละครเอกของวงการเทนนิสหญิงมาตลอดอย่างยาวนาน แม้กระทั่งในช่วงปลายอาชีพเธอจะอันดับกระเด็นไปไกลเกินกว่าอันดับที่ 300 ก็ตาม

เรื่องแซ่บของนางฟ้า 

การทำเงินก้อนใหญ่ด้วยจุดขายด้านภาพลักษณ์นั้น ไม่มีใครเถียงว่าคือสิ่งที่เป็นตัวตนของ มาเรีย ชาราโปว่า ทว่าในเรื่องของการแข่งขันนั้น เธอก็ไม่ได้เป็นที่รักของทุกคนเสียทีเดียว และคู่อริของเธอก็คือเบอร์ 1 ตลอดกาลอย่าง เซเรน่า วิลเลี่ยมส์  

วิลเลี่ยมส์ ผู้น้องกวาดแชมป์แกรนด์สแลมมา 23 รายการตลอดอาชีพนักเทนนิส และเธอคือที่สุดแห่งยุคในเรื่องฝีมือแบบไม่ต้องส่งสัย สถิติของ เซเรน่า ที่เจอกับ ชาราโปว่า ทั้งหมด 22 ครั้งคือ เซเรน่า ชนะ 20 ครั้ง ส่วน ชาราโปว่า ชนะแค่ 2 ครั้งเท่านั้นเอง 

เรื่องดังกล่าวมีเหตุผล เซเรน่า และ ชาราโปว่า มีความสัมพันธ์ที่ต่างกับคู่อริเทนนิสฝั่งชายอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดาล ที่ถึงแม้ทั้งคู่จะช่วงชิงความยิ่งใหญ่และเป็นราชาของคอร์ทเทนนิสคนละสาย (เฟเดอเรอร์ – หญ้า, นาดาล – ดิน) แต่นอกสนามพวกเขาเป็นเพื่อนสนิทและมีมิตรภาพให้กันเสมอมา

แต่ เซเรน่า และ ชาราโปว่า คือความสัมพันธ์ระดับผีไม่เผาเงาไม่เหยียบเลยก็ว่าได้ ในช่วงยุค 2000’s ที่ทั้งคู่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งกัน แม้ ชาราโปว่า จะเป็นฝ่ายแพ้เสียส่วนใหญ่ แต่เหตุผลที่ซ่อนอยู่คือ เซเรน่า แค้นมากที่ ชาราโปว่า พาดพิงเธอด้วยเอาไปเขียนผ่านชีวิตประวัติที่ชื่อว่า “Unstoppable: My Life So Far”  

ในเล่มนั้น ชาราโปว่า เล่าว่า การเจอกันในวิมเบิลดันปี 2004 เธอได้เข้าไปชิงกับ เซเรน่า และเป็นการเอาชนะที่พลิกล็อกของเธอ และทำให้ ชาราโปว่า คว้าแกรนด์สแลมแรกของเธอมาครองได้สำเร็จ 

ในตอนที่รับถ้วยแชมป์นั้นทั้งคู่ก็ยิ้มแย้มให้กันดีอยู่ ทว่าหลังจากเข้าสู่ห้องแต่งตัว ชาราโปว่า เล่าว่า เซเรน่า เสียน้ำตาที่แพ้ให้กับเธอซึ่งเป็นเพียงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ แบบไม่คาดคิด และในขณะที่ เซเรน่า ร้องไห้ก็กลายเป็นจังหวะที่ ชาราโปว่า ได้ไปเห็นห้วงเวลาความอ่อนแอของยอดฝีมือฝ่ายหญิงพอดิบพอดี 

ชาราโปว่า เชื่อว่าชัยชนะของเธอนำมาซึ่งความเคียดแค้นของ เซเรน่า ที่หลังจากนั้นไม่ว่าทั้งคู่จะได้แข่งกันกี่ครั้ง เซเรน่า จะจัดเต็มและเกมๆ นั้นจะเป็นเกมที่ร้อนแรงเสมอ เพราะ เซเรน่า ฝังใจกับการแพ้ครั้งนั้นมากจนเคยบอกกับเพื่อนว่า เธอจะไม่แพ้ ชาราโปว่า เป็นครั้งที่ 2 แถมยังมีคำนามแทนชื่อ ชาราโปว่า ว่า “Little Bitch” เลยทีเดียว 

“ฉันคิดว่า เซเรนา เกลียดฉันที่เป็นเพียงเด็กรูปร่างบอบบางที่เอาชนะเธอได้อย่างเหลือเชื่อ ในศึก วิมเบิลดัน … แต่ฉันเชื่อเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า เธอเกลียดฉัน เพราะฉันได้ยินเสียงร้องไห้ของเธอมากกว่า” 

ไม่ต้องสงสัย เซเรน่า ปรี๊ดแตกสุดขีดเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนั้น เธอบอกว่า ชาราโปว่า คิดเองเออเองไปหมดทุกอย่าง และเธอผิดหวังมากที่ ชาราโปว่า เอาไปเขียนเป็นตุเป็นตะลงหนังสือ 

“สิ่งที่อยู่ในหนังสือก็เอามาจากสิ่งที่เธอพูดลอยๆ มา 100 เปอร์เซนต์ ฉันได้อ่านมันแล้วรู้สึกผิดหวังนิดหน่อย ฉันร้องไห้ในล็อคเกอร์รูมบ่อยเมื่อแข่งแพ้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนปกติที่ไหนก็เป็นกัน มันก็แสดงให้เห็นถึงความกระหายในสิ่งที่ตัวเองทำขนาดไหน เพราะทุกครั้งเวลาออกไปสนามก็จะทำให้ดีที่สุด มันคือนัดชิง วิมเบิลดัน ถ้าไม่ร้องไห้สิแปลก” เซเรน่า กล่าวก่อนที่แอบเหน็บ ชาราโปว่า กลับว่า 

“หนังสือเล่มนั้นเขียนถึงฉันเยอะเลย น่าเซอร์ไพรส์ทีเดียว เพราะไม่ได้คาดว่าจะได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับฉันในอัตชีวประวัติของคนอื่น” 

แม้จะแลกกันคนละหมัดด้วยประโยคแซ่บที่เตรียมมา แต่ ชาราโปว่า ก็ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น เธอตอบกลับในเชิงว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพรส์ตรงไหน เพราะชีวประวัติของเธอคือการบอกเล่าในสิ่งที่เคยประสบพบเจอในชีวิต และการเจอกับ เซเรน่า ก็เป็นเรื่องจริงทำไมจะเอามาเขียนไม่ได้?     

ความสัมพันธ์แบบอริ และความแซ่บของวาทะทั้งสองสาว ไม่ใช่มีแต่แง่ร้ายเท่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันสำหรับการปะทะคารมทั้งในและนอกสนามคือ แมตช์ระหว่างทั้งคู่กลายเป็นที่สนใจของแฟนๆ เสมอ ทุกคนจับตาดูว่า เซเรน่า จะถล่ม ชาราโปว่า ให้เป็นจุลหรือไม่? หรือหนนี้ ชาราโปว่า จะฝากแผลใจเพิ่มให้กับ เซเรน่า อีก 

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าความเป็นอรินี้ทำให้ทั้งคู่ขายได้ ซึ่งทั้ง 2 ก็ไม่ปฎิเสธที่จะรับบทดังกล่าง ชาราโปว่า บอกว่าพวกเธอไม่มีวันจะเป็นเพื่อนกันได้ตราบได้ที่ยังเป็นนักเทนนิสอาชีพ เพราะต่างคนต่างก็กระหายแชมป์ และพยายามจะเอาชนะกันและกันอยู่เสมอ  

ความพยายามในการก้าวข้ามกันและกันนี้เอง คือหนึ่งในกุญแจหลักที่ต่างฝ่ายต่างไม่อยากหยุดพัฒนา แม้ความสัมพันธ์จะออกมาไม่สวยงาม แต่มันกลับทำให้ชื่อเสียง, ภาพลักษณ์ และสตอรี่ของทั้งคู่งอกเงยขึ้นจนกลายเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกสนใจ… และสิ่งนี้เองคือสิ่งที่นักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ต้องการ

วันที่ล้ม…สู่โอกาสใหม่ 

เป็นธรรมดาของอาชีพนักกีฬา ไม่มีใครเก่งได้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาก็ต้องยอมแพ้กับสังขาร ชาราโปว่า เองก็เช่นกัน หลังจากคว้าแกรนด์สแลมสุดท้ายในปี 2012 เธอก็ดร็อปลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนใหญ่ในปี 2016

ในช่วงก่อนการแข่งขัน ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ชาราโปว่า พบกับปัญหาเมื่อเธอไม่ผ่านการทดสอบการใช้สารกระตุ้น โดยสารที่พบในตัวเธอมีชื่อว่า Meldonium ซึ่งเป็นยาที่เธอใช้เป็นประจำ แต่ทว่าองค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้น (WADA) เพิ่งบรรจุให้ยาชนิดดังกล่าวเป็นเป็นสารกระตุ้นต้องห้ามในปี 2016 พอดี จนทำให้สารยังค้างในร่างกาย นี่คือสิ่งที่เธออ้างด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามข้ออ้างของเธอไม่ขึ้น ชาราโปว่าโดนโทษแบน 2 ปี ก่อนจะยื่นอุทธรณ์ลดเหลือ 15 เดือนได้สำเร็จ … แม้เวลาจะสั้นลงแต่ผลกระทบยังคงเดินหน้าต่อไป แบรนด์ที่เป็นบ่อเงินบ่อทองอย่าง แท็ก ฮอยเออร์, ไนกี้, ปอร์เช่ ถอดเธอออกจากรายชื่อแบรนด์แอมบาสเดอร์ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ยิบย่อยต่างๆ ที่ทำเช่นเดียวกัน จนทำให้รายได้ของเธอหายไปเยอะ และเสียตำแหน่งแชมป์นักเทนนิสหญิงที่ทำเงินมากที่สุดต่อปีให้กับ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ไปในท้ายที่สุด

ดูเหมือนว่าเธอจะเข้าตาจนเสียแล้วในตอนนี้ … แต่อย่างที่นักวิจารณ์ของ ฟอร์บส์ ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ นอกจาก ชาราโปว่า จะมีเสน่ห์แล้ว เธอยังมีควา “ฉลาด” ด้วย และความฉลาดในทางหัวธุรกิจได้กลายเป็นฐานที่มั่นที่ทำให้เธอไม่ต้องกังวลมากนักเมื่อสปอนเซอร์หลักหายไป 

นั่นเพราะว่าเธอได้สร้างแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่า Sugarpova ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ขายลูกอมและขนมหวาน ไว้แล้วนั่นเอง

“ครั้งแรกที่ฉันเริ่มต้นคิดธุรกิจนี้ขึ้นมามันเกิดขึ้นในช่วงที่ฉันมีอาการบาดเจ็บ ตอนนั้นฉันอายุแค่ 21 ปีเท่านั้น และไม่รู้ว่าตัวเองจะกลับมาเล่นเทนนิสได้อีกครั้งหรือไม่ ดังนั้นฉันต้องหาอะไรที่สามารถสร้างเงินให้ฉันได้มากพอที่จะไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต และมีเงินให้ครอบครัวไว้ใช้จ่ายและมีความสุข” 

ณ เวลานั้นเธอมีเงินลงทุนไม่มาก เธอจึงค่อยๆ ทำไปทีละน้อย และหวังจะให้มันเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้สุดท้ายเธอจะผ่าตัดผ่านฉลุยและกลับมาตีเทนนิสได้ดีอีกครั้ง แต่แบรนด์ลูกอมของเธอก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการวางแผนธุรกิจของเธอเอง

“เมื่อคุณเพิ่งเริ่มคุณจะรู้สึกว่ามันยากที่จะประสบความสำเร็จในทันที ดังนั้นต้องให้เวลาตัวเองสัก 5 ปี และฉันไม่เคยอายที่จะลงมือทำอะไรอื่นๆ ที่แตกต่างเลย” 

ชาราโปว่า ขยายธุรกิจของเธออกไปด้วยการส่งขายไปร้านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Kroger หรือแม้แต่กระทั่ง 7-11 เครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่ง The Sun สื่อจากอังกฤษบอกว่าทุกวันนี้ Sugarpova สามารถทำเงินให้กับ ชาราโปว่า ได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว 

“เทนนิสจ๋า ฉันขอลาก่อน หลังเล่นเทนนิสมา 28 ปี คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 5 สมัย ฉันพร้อมที่จะไต่ขึ้นภูเขาลูกใหม่แล้ว เพื่อเอาชนะความท้าทายใหม่ๆ” ชาราโปวา ที่เพิ่งแถลงแขวนแร็คเก็ตไปเมื่อเร็วๆ นี้กล่าว 

ภูเขาลูกแรกคือการเป็นแชมป์ เธอพิชิตได้ ภูเขาลูกที่สองคือการเป็นขวัญใจแฟนๆ เธอก็ทำไปแล้ว ณ เวลานี้เธอกำลังใช้ความฉลาดและเสน่ห์ของตัวเองในบทบาทของ CEO บริษัทขายขนมหวาน ปีนข้ามภูเขาลูกที่ 3 นั่นคือการต่อยอดหลังจากเลิกเล่น… 

จากเด็กสาวชาวรัสเซียที่ย้ายมาสหรัฐอเมริกาในปี 1994 ด้วยเงินเก็บเพียง 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกวันนี้ มาเรีย ชาราโปว่า กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบของนักกีฬาที่ใครหลายคนอยากเดินรอยตาม

ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จ แต่มันสมบูรณ์ทุกขั้นตอน จนต่อให้ล้มก็เป็นการล้มลงบนฟูก และดูเหมือนว่าจากนี้ตัวเลขในบัญชีของเธอกำลังจะเดินหน้าทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ในอนาคตเธออาจจะทำเงินจากการขายขนมหวานได้มากกว่าที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่เคยให้เธอตอนที่ยังเป็นนักเทนนิสอยู่ก็เป็นได้ 


แชร์ข่าวนี้