
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาออกมาตรการชุดที่ 2 ให้ความช่วยเหลือประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาถึงจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจาก มาตรการชุดที่ 1 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว และสั่งการให้กระทรวงการคลัง ติดตามมาตรการ ชุดที่ 1 หลังจากที่ออกไปแล้ว เช่น การปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ การลดเงินต้นและอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพราะรัฐบาลกลัวเมื่อ ครม.อนุมัติไปแล้ว จะมีคนไม่ปฏิบัติตาม ทำให้มาตรการที่อนุมัติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย “ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าการแพร่ระบาดจะทวีความรุนแรงแค่ไหน และยาวนานแค่ไหน รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเอาไว้พร้อม ซึ่งในอนาคตผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้แรงงานตกงานมากขึ้น ที่สำคัญจะไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและการส่งออก ส่วนมาตรการแจกเงินคนละ 1,000 บาท จำนวน 2 เดือน รวมคนละ 2,000 บาท นายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอออกไปก่อน แต่ไม่ได้หมายความยกเลิกมาตรการ”
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า จะพยายามติดตามและออกมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเป็นบวก ไม่ติดลบ เพราะหากชะลอตัวมากเกินไป หรือมีลักษณะไหลลงแบบตกท้องช้าง การกอบกู้สถานการณ์จะทำได้ยาก ดังนั้น มาตรการที่ออกมาต้องมีความรุนแรง และมีความเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเงินมากเกินไป “ในช่วงเดือน ม.ค.ต้นเดือน ก.พ. ยังมองว่าจะมีผลกระทบ 3 เดือน และใช้เวลาในการดึงสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ 2 เดือน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ไวรัสโควิด-19 น่าจะมีการแพร่ระบาด 9 เดือน และจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3 เดือน รวมประมาณ 11 เดือน หรือ 1 ปี และได้สั่งการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาผลกระทบใน 3 กรณี คือ รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก พร้อมให้เสนอแนะมาตรการต่างๆเพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจต้นเดือน เม.ย.นี้ด้วย