ไวรัสโคโรนา: “นพ.ทวี” ชี้ดาราถึงไม่ติดเชื้อโควิด-19 จาก “แมทธิว” แต่ต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน

266
แชร์ข่าวนี้

จากกรณี “แมทธิว ดีน” ออกมาประกาศว่าติดโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ “ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน” ก็ออกมาประกาศว่าตนเองติดไวรัสโควิด-19 จากสามี โดยแมทธิว ติดจากสนามมวยลุมพินี ตอนนี้แม้แต่เซียนมวย นายทหารระดับผู้ใหญ่ก็ติดด้วยเช่นเดียวกัน

รายการโหนกระแสวันที่ 16 มี.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ “รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์” ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ รวมถึงลูกชาย “ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์” โฆษกกรมสุขภาพจิต

ล่าสุดลีเดียประกาศว่าเธอติดโควิด-19 จากสามี เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจใช่มั้ย?

นพ. ทวี : “ใช่ครับ เพราะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีความใกล้ชิดกัน”

ลูกล่ะ?

นพ. ทวี : “อันดับแรก พอแม่รู้ว่าพ่อเป็นเขาก็รีบใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ  อันนี้เป็นการป้องกันชั้นนึง สองลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ เด็กจะไม่รู้จักแคะแกะเกาหน้า สามด้วยธรรมชาติของโรคในเด็ก ถ้าติดจะไม่มีอาการ อันนี้การศึกษาจากประเทศจีน ว่าเด็กมีโอกาสเป็นได้น้อย”

ล่าสุดลีเดียประกาศดีแลนไม่ได้ติด แต่เดมี่ยังไม่มีการตรวจ เพราะกลัวพาไปเจอเชื้อโรคต่างๆ นานา ตัดปัญหาได้เลย ไม่น่าต้องรักษา?

นพ.ทวี : “ยังครับ ยังต้องรอจนกว่าจะพบ 14 วัน ถ้า 14 วันอาจต้องตรวจซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ในเด็กไม่ค่อยมีอาการ”

คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ม้า กาละแมร์ ดีเจนุ้ย หรือหนูเล็ก อาร์ต พศุตม์ ไปอยู่ใกล้กัน หรือคนที่ไปสนามมวย ไปตรวจแล้ววันนี้ไม่เจอ อีก 14 วันข้างหน้า?

นพ.ทวี : “ต้องรอดูอาการอีก 14 วันข้างหน้า ถ้าเผื่อว่าเชื้อติด มันเริ่มแสดงอาการ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว เป็นไข้ เจ็บคอ”

สมมุติแมทธิวเป็นวันนี้ หลังจากประกาศ คนไปเจอแมทธิวก่อนประกาศสัก  3 วัน นับจากวันไหน?

นพ.ทวี : “นับจากวันที่ใกล้ชิด นับจากวันนั้นไป 14 วัน”

คุณม้า อรนภา ไปเจอวันอังคาร วันศุกร์ไปตรวจ เท่ากับอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ สามวันมีโอกาสเจอเชื้อหรือยัง?

นพ.ทวี : “มีโอกาสเจอ แต่ที่เจอบ่อยที่สุดคือประมาณ 5-7 วัน สามวันที่ไปตรวจอาจไม่เจอ แต่อาจไปเจออีก 7 วันข้างหน้าก็ได้ เพราะฉะนั้นถึงต้องให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน”

ตรวจแล้วไม่ใช่ว่า 7 วันจะไม่มีเชื้อตัวนี้?

นพ.ทวี : “ถูกต้องครับ และต้องรอจนครบ 14 วัน ถ้า 14 วันแข็งแรงดี ก็จบครับ”

จุดที่ทำให้หลายคนติดคือสนามมวยลุมพินี อย่างแมทธิวเป็นพิธีกรกับพินิจ พลขัน หรือ มิสเตอร์ป๋อง ก็ติดเชื้อ ยังมี พลตรีราชิด อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกก็ติดเหมือนกัน หลายคนก็ติด แล้วไปติดกันยังไง อยู่กันแค่บนเวทีก็ติดแล้วเหรอ?

นพ.ทวี : “จะไปบอกว่าติดกันบนเวทีนี้อย่างเดียวไม่ได้ เขาอาจต้องลงไปข้างล่าง และข้างล่างไปอยู่กับใคร อันนี้ไม่ได้แปลว่าเขาติดกันบนี้ มันมีอย่างอื่นด้วย ตอนนี้เราไม่รู้ว่าคนไหนเป็น ที่สำคัญคือเราไม่รู้”

น้ำลายกระเด็นออกมา?

นพ.ทวี : “ตอนช่วงที่เขาเชียร์มวย ใส่หน้ากากมั้ย เวลาเชียร์จะเงียบๆ หงิมๆ ก็ไม่ได้ ต้องเต็มที่  อารมณ์ต้องใส่ โอกาสแพร่พร้อมๆ กันได้หมดเลย”

คนข้างล่างเอาไปติดคนข้างบน หรือคนข้างบนเอามาติดข้างล่าง หรือเวลาตะโกนเชียร์ น้ำลายกระเด็นเป็นฝอย?

นพ.ทวี : “นี่คือประเด็นหนึ่ง ตอนเชียร์เขาใส่หน้ากากมั้ย ก็ไม่มี เพราะไม่สนุกหรอกครับ ทีนี้เวลาไปเชียร์จะเงียบๆ หงิมๆ ก็ไม่ได้ ก็ต้องเต็มที่ ต้องใส่อารมณ์ ต้องเสียงดัง โอกาสแพร่ไปรอบข้างก็ได้หมดเลย”

ถ้าเป็นสถานที่ไม่มีอากาศถ่ายเท แออัด มีโอกาสแพร่มากกว่า 10 มั้ย?

นพ.ทวี : “ผมว่าอาจจะมากกว่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราเคยเห็นที่เป็นกลุ่มก้อน อยู่ในระหว่างเฝ้าระวังต่อ ยังไม่ครบ 14 วัน มันก็จะโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ กลุ่มก้อนใหญ่นี้กำลังกำลังติดตาม กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักระบาดเขาส่งคนเข้าไปติดตาม”

กรณีคนไปสนามมวยในวันนั้น สมมติออกจากสนามมวยแล้วไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหาร และไปช้อปปิ้ง เขาเกิดจาม ละอองอยู่บนพื้นผิว แล้วคนไปติดแล้วมาขยี้ตา ติดมั้ย?

นพ.ทวี : “ยังครับ เพราะคนเพิ่งไปติดสนามมวย เชื้อต้องเข้าร่างกายเขาและฟักตัว ซึ่งระยะฟักตัวเฉลี่ยแล้ว5-7 วัน ที่เขาเพิ่งได้รับเชื้อมา 1 ชม.แล้วแพร่เลยไม่ได้”

ต้องกี่วัน?

นพ.ทวี : “5-7 วัน”

แล้วที่เขาบอก มันเริ่มติดระยะฟักตัว ติดเลย?

นพ.ทวี : “ยังครับ ไม่ครับ ฟักตัวคือกำลังก่อปัญหาอยู่ ยังไม่ได้ก่อโรค ต้อง 5-7 วันที่ผมพูดถึง อาการโรคมากน้อยแล้วแต่บุคคล กลุ่มก้อนนี้เราจะสังเกตว่ามันจะโผล่มาช่วง 12-13 ระยะฟักตัวส่วนใหญ่เฉลี่ย 5-7 วัน พอดีเลย เดี๋ยวต้องตามต่อ ใครเป็นไม่เป็นต้องตามต่อ”

กรณีคนติด มี 10 กว่าคนจากผับบาร์ สนามมวยก็ 10 กว่าคน รวมถึงคนที่กลับจากต่างประเทศเอามาติดญาติตัวเอง แสดงว่าเราควรหลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนแออัด?

นพ.ทวี : “การที่อยู่ในชุมชนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ค่อยดี เมื่ออากาศถ่ายเทไม่ค่อยดี เวลามีใครไอจามจะมีการหมุนเวียนอยู่ในนั้น มาติดอยู่แถวหน้าเราได้ เพราะเราอยู่ในรัศมี 1-2 เมตร แต่ถ้าคนอยู่ท้องไร่ท้องนา กว่าจะมีคนผ่านมาสักคนก็ยาก”

เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนรากหญ้าติดน้อยกว่าคนอยู่ในกรุงเทพฯ?

นพ.ทวี : “ไม่อยากใช้คำว่าสถานะดีกว่า มันอยู่ที่ว่าชุมชนเมืองมันใกล้ชิด มันแน่น ชุมชนที่อยู่ชนบท บ้านเขาห่างไกล ลมพัดแรง”

อ.วรตม์ มองยังไง?

อ.วรตม์ : “ช่วงนี้เรารับข่าวสารค่อนข้างเยอะ มันมีทั้งที่เป็นข่าวจริงและข่าวปลอม ข่าวที่มาจากอารมณ์ด้วย บางคนไม่ได้โพสต์เนื้อหา แต่โพสต์ความคิดเห็นและอารมณ์ ทำให้เกิดความกลัว สมมติในช่วง 2-3 วันเราเห็นภาพของบนชั้นในห้างสรรพสินค้าไม่มีของเลย  ทำให้เกิดความกลัวว่าของจะหมดแล้ว เขาว่าความน่ากลัวของโรคระบาดไม่เท่าความน่ากลัวของคนที่ระบาดออกไป ความกลัวระบาดอย่างรวดเร็วคุณไม่ต้องแตะตัวเขาด้วยซ้ำ คุณแค่อ่านข้อความคุณก็เกิดความกลัวแล้ว”

ข้าวของที่ซื้อมันหมด คืออะไร แพนิคหรืออะไร?

อ.วรตม์ : “ซื้อเพราะกลัวจะไม่มี ไม่ใช่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว  ถ้ามองย้อนสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ เกิดก่อนแล้ว อย่างเช่นที่อเมริกา อิตาลี ยุโรป และลามมาประเทศไทย อันนี้เป็นความกลัวของคน กลัวว่าพอเกิดสถานการณ์จริงๆ จะออกจากบ้านไม่ได้และไม่มีของกิน แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วโรคภัยเราเอาตัวเราไปเทียบกับสถานการณ์ที่ว่าหน้ากากอนามัยมันขาด ก็เลยคิดว่าอาหารต้องขาดเหมือนกัน ทั้งที่ไทยเราผลิตอาหารส่งออกทั่วโลกมากเลยนะ ฉะนั้นอาหารส่วนมากไม่ค่อยหมดหรอกครับ มาหายไป วันรุ่งขึ้นก็มาเติมใหม่ แต่ภาพแบบนี้ ทำให้คนกลัว ถ้าเราเห็นคนเดินถุงกระดาษชำระผ่านมาสักคน เห็นเขาต่อแถวสองสามคน ก็จะคิดว่าเอาสักนิดนึง หรือมากับแฟน แฟนบอกว่าไม่ต้องซื้อหรอก เราก็อาจคิดว่าเธอทำหน้าที่ไม่ดีหรือเปล่า วิตกกังวลน้อยไปหรือเปล่า จะคิดว่าเราไม่ปลอดภัย คนอื่นทำ ทำไมเราไม่ทำบ้าง”

วันนี้ตัวเลขคนที่ติดค่อนข้างสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวมั้ย เราเองไม่ได้มีมาตรการป้องกันให้คนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามา ภาครัฐเองล้มเหลว มองยังไงเรื่องนี้?

นพ.ทวี : “มีสองส่วนนะครับ คนป่วยเป็นโรคในประเทศไทยเรา มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือต่างชาติเข้ามา ซึ่งรัฐมีมาตรการแล้ว และมาตรการสูงด้วยว่าถ้ามาจากกลุ่มประเทศมีความเสี่ยงสูง อย่างจีน อิตาลี เกาหลี อิหร่าน อันนี้ก่อนเข้ามาต้องมีการกักตัวเองก่อน 14 วัน กักตัวเองเสร็จขอใบรับรองแพทย์เข้ามาด้วย และต้องทำประกันชีวิตด้วย ถ้ามาเที่ยวเราอยากไปมั้ย ไม่มีใครอยากไปหรอก มันซับซ้อนมาก นี่เป็นเงื่อนไขที่ผมคิดว่าคนคิดไอเดียนี้กุศโลบายสูงมาก”

กุศโลบายอะไร?

นพ.ทวี : “เราไม่ได้บอกว่าห้ามเข้า แต่มันเป็นจุดที่คุณจะทำต้องทำก่อนเข้ามา”

ถ้าชาวบ้านมองว่าไม่ชัดเจน เงื้อๆ แต่ไม่ทำ สุดท้ายเลยทำให้คนอื่นไหลเข้ามา และเอาเชื้อมาติดในประเทศ?

นพ.ทวี : “ไม่นะ ตอนนี้มีการส่งกลับด้วยนะ”

ช้าไปมั้ย?

นพ.ทวี : “ไม่ช้า คืองี้ ช้าหรือเร็วอยู่ที่ความรู้สึกของแต่ละคน กลุ่มสองคือกลุ่มคนไทยออกไปข้างนอก หรือกลุ่มนักเรียนไทยกำลังจะกลับเข้ามา ถ้าใครไปต่างประเทศต้องถูกกักกัน เป็นมาตรการ นักเรียนไทยหรือคนไทยที่มาจากประเทศมีการระบาดก็ต้องกักกัน”

ถ้าทำก่อนหน้านี้ตั้งแต่แรก อาจไม่มีคนติดเชื้อ ช้าไปหรือเปล่า?

นพ.ทวี : “คำถามที่มีคนถามว่ารัฐบาลนี้มีคำสั่งเงอะงะเกินไปมั้ย เดี๋ยวมีคำสั่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนกลับ ก็ต้องยอมรับในฐานะที่ผมดูเกี่ยวกับโรคระบาดมา 20 ปี และมีอาจารย์หลายท่านช่วยกันศึกษา ขณะนี้โรคโควิด-19 ไปไกลที่สุดเทียบกับโรคระบาดเก่า ไกลที่สุดหมายถึงกำลังจะเข้าสู่ระยะ 3 และมีการระบาดกว้างขวางทั่วโลก ฉะนั้นเรื่องใหม่ขนาดนี้ คำถามคือว่าเรามีประสบการณ์มั้ย เราไม่มี มองย้อนกลับไปดู หลายคนบอกว่าประเทศจีนเขาทำดีเขาปิดประเทศ แต่เขาปิดประเทศหลังจากที่มีคนป่วยหลายหมื่นคน ฉะนั้นอันนี้ถามว่าแล้วประเทศอื่นหลายประเทศในยุโรปเขาทำช้าไปมั้ย”

แต่ประชาชนไม่ได้โง่นะ ประชาชนฉลาด?

นพ.ทวี : “(หัวเราะ) ครับ”

อ.วรตม์ รู้สึกยังไงที่ตอนนี้เขาบอกว่าติดโควิด 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ประสาทเสียกันร้อยเปอร์เซ็นต์?

อ.วรตม์ : “ความกลัว วิตกกังวล เกิดได้อยู่แล้ว ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ แต่ต้องอยู่ในระดับปกติ ถ้ากลัวกังวลมากเกินไป ก็จะเกิดภาพแบบนี้ คนออกไปกักตุนสินค้ามากมาย แล้วมีคนมาหาผลประโยชน์ มาโก่งราคาในของที่ไม่ควรโก่งราคา ฉะนั้นเราเองทุกคน กรมสุขภาพจิตย้ำเสมอว่าเราต้องตะหนัก เรามีความกังวลหน่อยๆ ถ้าเราไม่มีความกังวลเลยจะแย่  แต่ไม่ถึงขั้นตระหนก ถ้าเราตระหนกเราจะทำอะไรไม่ถูก เราจะรับข่าวสารที่เชื่อว่าเป็นแบบนั้น จะไปรับข่าวลือ ข่าวปลอมมามาก ซึ่งความกังวลเล็กๆ น้อยๆ มีประโยชน์ เช่นเกรากลัวว่าตรงนี้สกปรก เราก็เอาอะไรไปเช็ด ไปล้างมือของเรา ความกลัวแบบนี้มีประโยชน์ แต่ถ้าเรากลัวมากเกินไป เราไม่ก้าวออกจากบ้านเลย อันนี้จะเป็นปัญหากับตัวเอง”

ตอนนี้หนักหรือยัง?

นพ.ทวี : “จริงๆ อยู่ในสิ่งที่เราคาดคิดไว้แล้ว เมื่อวานนี้ 114 ขึ้นเร็วแต่สำคัญเราเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับอิตาลี เราขึ้นน้อยมาก แต่ถ้าเทียบกับประเทศข้างเคียงเรา เขาแทบไม่ขึ้นเลย”

เป็นเพราะเราต้องเช็ก 2 ครั้งถึงประกาศ?

นพ.ทวี : “แล้วแต่แต่ละที่ เขาต้องดูว่าหลักที่เขาใช้มีความไวกับความจำเพาะมากน้อยแค่ไหน ถ้าตรวจแล้วลบจบแล้ว แต่ถ้าตรวจแล้วมีไข้ขึ้น ไม่สบาย ไอมาก ต้องตรวจซ้ำ แล้วถึงจะประกาศ ป้องกันความผิดพลาด”

ทำให้ตัวเลขมันน้อยหรือเปล่า?

นพ.ทวี : “ไม่ใช่ครับ ตัวเลขอาจจะช้า แต่ไม่ได้น้อย เพราะต้องใช้เวลา”

กรณีที่ 114 คน ต่อไปเบิ้ลไปเรื่อยๆ รพ.มีเตียงเหรอ เครื่องมือแพทย์พอหรือเปล่า?

นพ.ทวี : “ถ้ายังเป็นแบบนี้รับมือได้”

เมื่อไหร่ถึงรับมือไม่ได้?

นพ.ทวี : “ก็คงต้องมีการประเมินกันชนิดวันต่อวัน”

ตอนนี้ทั่วประเทศ ของภาครัฐก่อน เตียงหรืออัตราเครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือรักษาได้กี่คน?

นพ.ทวี : “ผมว่าถ้ามีแสนกว่าเตียง ไม่ได้หมายความว่าจะใช้โรคเดียวทั้งหมด เรายังมีโรคอื่นที่ต้องรักษา แต่โรคไหนไม่จำเป็นต้องถอยก่อน”

โรคนี้ต้องอยู่สถานที่ปิด ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ?

นพ.ทวี : “เราต้องมีตึกจำเพาะทั้งตึก รพ.ทั้งรพ. ของจังหวัดนี้ รับดูแลทั้งหมด”

มีข่าวออกมาจากประเทศนึงที่บอกว่าอาจต้องยอมช่วยคนที่ต้องช่วย เลือกช่วย บางคนต้องปล่อยเลย เตียงไม่พอ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ อาจต้องปล่อยจำนวนนึงทิ้งไปเลย จะมีโอกาสเกิดในประเทศไทยมั้ย?

นพ.ทวี : “อันที่หนึ่งรับไม่ได้ในฐานะที่เป็นแพทย์ รับไม่ได้จริงๆ เพราะเราถูกสอนมาให้มีหน้าที่ช่วยชีวิตคน เราไม่มีหน้าที่เลือกว่าคนนี้ควรอยู่คนนี้ควรตาย ไม่ใช่เรื่องของเรา และเราต้องหาทางอื่นช่วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เคยมีนะในบางรพ. อยู่ต่างจังหวัด ไม่มีเครื่องช่วยหายใจก็ต้องส่งต่อ ถึงเวลาที่แพทย์ต้องเลือกว่าคนนี้ควรอยู่หรือควรตาย เรารับไม่ได้”

ที่อังกฤษ นายกฯ ประกาศจะต่อสู้กับโควิด โดยปล่อยให้ประชาชนติดโควิดทั้งหมด แล้วไปประเมินว่ากี่คนรอด กี่คนจะมีชีวิตอยู่ จะได้มีภูมิคุ้มกัน มันดูเลอะเทอะมั้ย?

นพ.ทวี : “ถ้าพูดเล่นก็แล้วไป แต่ถ้าพูดจริง เรามองดูโรคนี้ ติด 100 คน 80 คนเหมือนไข้หวัด นอนอยู่บ้านตัวเอง กินยาพาราก็หาย อันนี้เราไม่กังวล แต่พอมาอีก 15 คนถัดมา พวกนี้ปอดบวม ปอดอักเสบ พวกนี้ต้องได้รับการรักษา ไม่งั้นอาการตายสูงขึ้น แทนที่จะตาย 1 เปอร์เซ็นต์ จะไปตาย 10 เปอร์เซ็นต์ รับได้มั้ยล่ะครับ อีก 3 เปอร์เซ็นต์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอะไรต่างๆ ซึ่งตรงนี้ตามทฤษฎี เราเรียกว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือต้องมีการติดไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เช่น คนไทยมี 60 ล้านคน ต้องติด 30 กว่าล้าน มันถึงจะอยู่”

แต่วิธีนี้เสี่ยงเกินไป ดูเลอะเทอะ?

นพ.ทวี : “ไม่ได้เลยครับ รับไม่ได้เลย พอข่าวนี้ออกมาปรากฏว่าหลายประเทศ รวมทั้งระดับสูงของโลก องค์กรอนามัยโลก เขาก็บอกว่าคิดแบบนี้ได้ยังไง ไม่ได้นะ จะปล่อยให้คนเราติด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เรายังไม่ได้เรียนรู้อีกมาก อย่างจีนตอนแรกที่ติด เข้ารพ.เยอะๆ เขาไม่ได้ปล่อยนะ แต่เขาไม่รู้”

แมทธิวเดินมาที่ช่อง 3 มีการฆ่าเชื้อหมดแล้วทั้งชั้น มีโอกาสมั้ยหลงเหลืออยู่?

นพ.ทวี : “มีได้แต่ยาก คุณจะให้รัฐรับประกันว่าไม่มีเชื้อเลยค่อนข้างยาก แต่ลองดู มันจะหลบอยู่ตรงไหน ตรงเย็นๆ เป็นมุม เขาก็จะอยู่ตามพื้น เวลาเชื้อเข้าก็เข้าจมูก ฉะนั้นสิ่งพาเชื้อเข้าคือนิ้วมือ งานของคุณไปจับพวกนี้หรือเปล่า ตามโต๊ะคุณคงเช็ดเรียบร้อยแล้ว อีกอย่างถ้ามือไม่ได้พามา หน้าเราจมูกเราไม่ได้ไปกับพื้น เราก็ปลอดภัย”

สุดท้ายอย่าไปตื่นตระหนก?

อ.วรตม์ :  “ครับ สุดท้ายแล้วเราควบคุมสิ่งที่เราควบคุมได้ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ก็เผชิญหน้ากับมัน ถ้าเราจะควบคุมทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ครับ เราควบคุมได้คือดูแลตัวเอง อย่าไปจับหน้า กินร้อนช้อนกลาง  นี่คือสิ่งที่เราควรทำ ช้อนกลางส่วนตัวนะครับ แต่ละคนมีช้อนส้อมและช้อนกลางส่วนตัว ไม่ต้องไปตักกับใคร”

คือช้อนของกู ไปไหนพกไปเลย?

อ.วรตม์ : “ครับ แล้วเจล แอลกอฮอล์ ล้างมือ เข้าไปที่คนเยอะๆ ก็ใส่หน้ากากอนามัย เราดูแลตัวเองดีที่สุด สุดท้ายก็จะลดลง”


แชร์ข่าวนี้