ศาลไม่รับ “เดียร์” ฟ้อง “อนุทิน” หมิ่นประมาท โพสต์คำแถลง “ช่อ” ปมหุ้นสื่อ

248
แชร์ข่าวนี้

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีที่ อ. 3127/2562 ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ กรณี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ‘มาดามเดียร์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328

กรณีนำข้อความที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น ที่แถลงข่าวกล่าวหา น.ส.วทันยา มีหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนมาโพสต์เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความ “เชียร์ช่อ”

โดยคำฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2562 น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นโฆษกพรรคอนาคตใหม่ จัดแถลงข่าว ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ต่อสื่อมวลชน ตอนหนึ่งระบุว่า “ประเด็นร้อนแรงจนทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมคือ การเป็นเจ้าของสื่อของนักการเมือง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

ห้ามไม่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งถือครองหุ้นสื่อ โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็คือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองครอบครองสื่อ เพื่อใช้สื่อนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนเองและเป็นโทษแก่ผู้ที่เป็นศัตรูผู้ที่ถือหุ้นดังกล่าว

แต่ในประเทศไทย มีกรณีนักการเมืองมีความเกี่ยวพันเป็นเจ้าของสื่อที่ชัดเจนปรากฏและทราบกันดี แต่ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับนักการเมืองผู้นั้นได้ เนื่องจากนักการเมืองคนนั้นคือ คุณวทันยา เป็นส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของเครือเนชั่น และให้ผู้ที่เป็นสามีคือ คุณฉาย บุนนาค ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของเนชั่นแทน กรณีนี้ประจักษ์ชัดเจนว่าสามีของส.ส.ท่านหนึ่งถือหุ้นสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ

กรณีนี้กฎหมายกลับไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากผู้ถือไม่ใช่ตัวนักการเมืองผู้นั้น ไม่เพียงเท่านั้นเนชั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้กระทำการอันเป็นคุณต่อพรรคการเมืองบางพรรคและเป็นโทษแก่พรรคการเมืองบางพรรคอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้จะได้รับการตอบสนองได้อย่างไร ถ้าคู่สมรสของผู้ที่เป็น ส.ส.อยู่ในสภาสามารถถือหุ้นสื่อได้ สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองชัดแจ้ง…….”

การแถลงข่าวของ น.ส.พรรณิการ์ ดังกล่าวข้างต้นเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 ด้วย เรื่องที่เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้อง น.ส.พรรณิการ์ฯ ต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3095/2562 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ต่อมาวันเดียวกันเวลากลางคืน ประมาณ 20.19 น. จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า “Anutin Charnvirakul” นำข้อความและภาพจากสื่อมวลชนที่นำเสนอการแถลงข่าวของ น.ส.พรรณิการ์ และภาพของนางสาวพรรณิการ์ ในลักษณะถือเอกสารระหว่างการแถลงข่าวมาลงไว้ในเฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการกระทำหวังผลให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นอกจากนี้จำเลยยังแสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กของจำเลยดังกล่าวด้วย

อาทิเช่น “เชียร์ช่อครับ” (ซึ่งช่อในที่นี้เป็นที่เข้าใจรับรู้และรับทราบโดยทั่วไปว่า หมายถึง นางสาวพรรณิการ์ ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ การเชียร์ช่อจึงมีความหมายถึง การเห็นด้วยและให้กำลังใจต่อการกระทำของ น.ส.พรรณิการ์ ที่แถลงข่าวหมิ่นประมาทโจทก์)

หลังจากโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ต่อโจทก์และตอบโต้ข้อความกันทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสีย

นอกจากนี้โจทก์เห็นว่าทางจำเลยเป็นผู้มีการศึกษา มีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หากจะตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องย่อมกระทำได้โดยง่าย ประกอบกับพรรคภูมิใจไทยที่จำเลยเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคพลังประชารัฐที่โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่ออยู่นั้น ต่างเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

จำเลยสามารถสอบถามข้อมูลจากคนสนิทของโจทก์ได้ ก่อนที่จะนำข้อความมาลงเฟซบุ๊ก ที่มีประชาชนเข้าติดตามอ่าน และแสดงความคิดเห็นจำนวนหลายร้อยคน จึงถือได้ว่าประชาชนที่เข้าติดตาม และแสดงความคิดเห็นเป็นบุคคลที่สามที่ได้รับรู้รับทราบถึงข้อความที่จำเลยได้นำลงในเฟซบุ๊ก จึงเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

โดยในวันนี้มีตัวเเทนคู่ความทั้งสองฝ่ายเดินทางมาศาล

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยได้นำข้อความจากเฟซบุ๊กของน.ส.พรรณิการ์ มาลงในระบบ แต่มิได้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลง แม้จำเลยจะมีการแสดงความคิดเห็นตอบกลับ แต่ไม่ถือเป็นการยืนยันว่าข้อความของ น.ส.พรรณิการ์เป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นว่าไม่เป็นการกระทำผิดตามคำฟ้อง ศาลยกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ทนายความของ น.ส.วทันยาจะกลับไปหารือว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งต้องทำเรื่องส่งศาลภายใน 1 เดือน


แชร์ข่าวนี้