นอกจาก “ปิดห้าง” ปิดอะไรอีกบ้างในกรุงเทพฯ ส่องรายละเอียดในประกาศแบบชัดๆ

251
แชร์ข่าวนี้

หลังจากช่วงบ่ายของวันนี้ (21 มี.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยระบุถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายปิดให้บริการสถานที่ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยเอกสารประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติในการประชุมวันนี้ ให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ชุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น)

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินึกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกำลังกาย

23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ซึ่งการออกมาตรการดังกล่าวของผู้ว่าฯ อัศวิน นั้น ระบุเหตุผลเอาไว้ว่า พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ปวยโควิด-19 อย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว การควบคุมโรคอย่างทันเวลาและจำกัดการชุมนุมของประชาชนเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้างจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง


แชร์ข่าวนี้