ค้าปลีกสูญ 5 แสนล้าน : วงล้อเศรษฐกิจ

238
แชร์ข่าวนี้

ค้าปลีกสูญ 5 แสนล้าน : วงล้อเศรษฐกิจ – สถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผล กระทบต่อการบริโภคในประเทศทั้งจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค มาตรการปิดเมือง รวมถึงจำนวนนัก ท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่งผลตลาดค้าปลีกปี 2563 หดตัว

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจค้าปลีกของไทยจะส่งผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ 1.การท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างรุนแรงส่งผลต่อร้านค้าปลีกที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้าน Duty free รวมถึงร้าน specialty store บางประเภทที่เน้นเจาะตลาด นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่าหากนักท่องเที่ยวในปี 2563 ปรับลดลงราว 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 13.1 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจค้าปลีกที่มาจากภาคการท่องเที่ยวหายไปราว 2.7 แสนล้านบาท (สมมติฐานว่าสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายในไตรมาส 3 และนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในไตรมาส 4 แต่เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลงมาก คาดว่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในส่วนของการช็อปปิ้งมีแนวโน้มลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจาก 12,000 บาทต่อทริป มาอยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อทริป)

2.ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ปรับลดลง ตามแนวโน้มรายได้และการจ้างงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่มีทิศทางชะลอตัวอยู่แล้ว ก่อนที่จะถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้ภาครัฐมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าชั่วคราว แต่อนุญาตให้เปิดบริการซูเปอร์มาร์เก็ต

ทั้งนี้ แม้ว่ายอดขายบางส่วนจะถูกชดเชยด้วยช่องทางออนไลน์ แต่ยังมีสัดส่วนน้อยมากเพียงราว 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก ดังนั้น หากรวมผลกระทบทั้งจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวที่หายไป คาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2563 จะหดตัวราว -14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 5 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 ที่อยู่ที่ราว 3.5 ล้านล้านบาท

3.Supply disruption จากการที่สต๊อกสินค้าที่อาจขาดแคลนหากพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศที่มีการปิดเมือง ซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตใน ประเทศอื่นๆ ทดแทนได้ ก็อาจจะส่งผลให้สต๊อกสินค้าไม่เพียงพอได้ในระยะสั้น


แชร์ข่าวนี้