พิธา ชู 3ท แก้ไฟป่าเหนือ ถามควรซื้อเครื่องบินดับไฟป่า หรือเครื่องบินรบ

240
แชร์ข่าวนี้

“พิธา” เสนอแนวทางแก้ปัญหา ไฟป่าภาคเหนือ

วันที่ 7 เม.ย. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Pita Limjaroenrat-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ระบุถึงสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

นายพิธา ระบุว่า วิกฤตไฟป่านอกจากจะพรากชีวิตผู้คนไปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างทั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหามลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งภาคเหนือของไทยได้สร้างสถิติมีค่าฝุ่นอันตรายเกินมาตรฐานติดอันดับโลกเกิน 3 สัปดาห์แล้ว

หากดูรายงานของสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าไฟป่าในปีนี้รุนแรงมากขึ้น ไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 62 – 31 มี.ค. 63 มีจุดความร้อนสะสมสูงถึง 37,343 จุด ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 10,660 จุด และขณะนี้มีพื้นที่เสียหายสะสมอย่างน้อย 89,042 ไร่

นายพิธา ระบุอีกว่า ปัญหาไฟป่ารุนแรงและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาและเปลี่ยนแปลงมุมมองวิธีคิดในการแก้ไขให้ถึงรากฐานอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนผมเสนอหลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า “3 ท.”

คือ 1.ท. ท้องถิ่น โดยให้ผู้ที่ใกล้ชิดทรัพยากรที่สุด และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรมากที่สุด เป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้มากที่สุด รัฐราชการที่รวมศูนย์ต้องถอยไปเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้เท่านั้น กระจายอำนาจให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันและการดับไฟ โดยเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาส่วนสนับสนุน

นายพิธา ระบุว่า 2.ท. ทรัพยากร โดยการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นต้องมาพร้อมกับการกระจายทรัพยากร ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 26.97 ล้านไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 10.56 ล้านไร่ มีสถานีควบคุมไฟป่า 50 สถานี มีหมู่ดับไฟ 169 ชุด มีกำลังพล 2,535 คน มีชุดปฏิบัติการดับไฟป่า 4 ชุด 60 นาย และมีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่า 790 หมู่บ้าน

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงหลายพื้นที่ อีกทั้งมีคำถามและข้อร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณพร้อมจะสนับสนุนการดับไฟของชุมชน แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องอำนาจกฎหมาย และกลับมีข้อท้วงติงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้องคกรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถสนับสนุนงบให้ชุมชชน หากเป็นไปได้ก็ควรปลดเงื่อนไขทางกฎหมายตรงนี้ลง โดยอธิบดีผู้รับผิดชอบ รัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการสั่งการโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี

นายพิธา ย้ำว่า เห็นได้ว่ารัฐยังไม่ได้ลงทุนสร้างบุคลากรดับไฟอย่างเพียงพอ ยังไม่ได้ลงทุนอุปกรณ์พื้นฐานการดับไฟป่าของชุมชน ซึ่งควรเพิ่มงบประมาณเหล่านี้ ขยายเครือข่ายชุมชน เพิ่มการมีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนจัดการชุมชน แก้ปัญหางบประมาณล่าช้า และงบประมาณลงไปไม่ถึงชุมชน

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า 3.ท. เทคโนโลยี ภัยพิบัติไฟป่าในสถานการณ์ปัจจุบันมีความรุนแรงเกินกว่าศักยภาพของชุมชนจะจัดการแล้ว แต่รัฐส่วนกลางดูเหมือนจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตหรือจัดซื้อเทคโนโลยีระดับสูงในการดับไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทำภารกิจ firebombing ซึ่งเป็น Airtanker DC-10 ขนาดใหญ่บรรทุกน้ำในการดับไฟได้ครั้งละ 44,000 ลิตร ซึ่งมากกว่า KA-32 ที่ไทยใช้อยู่ถึง 14 เท่า,

รวมถึง C-130Q ที่บรรทุกน้ำได้ 15,450 ลิตร ถึงแม้กองทัพอากาศไทยจะมีเครื่องบิน BT-67 หรือกรมป้องกันและบรรเทาสารธารณภัยมีเฮลิคอปเตอร์ KA-32 อยู่บ้าง แต่ความหลากหลายของเครื่องมือเพื่อการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มีความจำเป็นมากในการแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องมีการประสานงานกับทีมภาคพื้นดินให้ดีด้วย

ผมคิดว่าเราควรทบทวนแนวคิดเรื่องความมั่นคงใหม่ เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญได้ว่าระหว่างเครื่องบินดับไฟป่ากับเครื่องบินรบ เราควรจะลงทุนกับอะไรก่อนเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้ อีกทั้งรัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าทรัพยากรกับเทคโนโลยีของเราอาจไม่เพียงที่จะจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่นี้ได้โดยลำพัง เราควรประสานขอความช่วยเหลือจากนานาชาติด้วย

นี่ไม่ใช่เรื่องต้องกลัวเสียหน้า แต่เป็นเรื่องมนุษยธรรมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนานาชาติท่ามกลางวิกฤต ที่จะช่วยจนภารกิจลุล่วงไปได้ แน่นอนภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่มีคำสั่งปิดน่านฟ้าไทยอยู่อาจจะทำให้ทางออกนี้ซับซ้อนไปอีก แต่ชีวิตประชาชนก็รอไม่ได้เช่นกัน” นายพิธา กล่าวย้ำ


แชร์ข่าวนี้