เปิดทางรอดฟื้นฟูบินไทย ลดคนลดขนาดองค์กร-ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

216
แชร์ข่าวนี้

“สมคิด” ตั้งคณะทำงานร่วมคลัง-คมนาคม ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย หวังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” คาดแผนฟื้นฟูชัดเจนสัปดาห์หน้า ด้านวงในชี้บินไทยวิกฤติหนัก! คาดจ่ายเงินเดือนพนักงานได้แค่สิ้น เม.ย.นี้เท่านั้น วอนรัฐค้ำเงินกู้ 7 หมื่นล้านบาท ระบุบินไทยจะรอดได้ ต้องลดขนาดองค์กร ลดพนักงานและสิทธิประโยชน์ ยุบส่วนงานที่ไม่สร้างรายได้ และลดการถือหุ้นของกระทรวงคลังลง เลิกเป็นรัฐวิสาหกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมหารือร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รวมทั้งทีมผู้บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า การบินไทยถือเป็นสายการบินที่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน และประสบปัญหามาตลอด ดังนั้นกระทรวงการคลังและคมนาคมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อหาแนวทางดูแลเร่งด่วนและกำหนดทิศทางการบินไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า โดยจะมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยการบินไทยต้องแสดงความสามารถด้วยว่ายังสามารถแข่งขันได้ เพื่อให้ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป ส่วนเรื่องจะให้การบินไทยยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาว่าทิศทางของการบินไทยจะเป็นอย่างไร

“รัฐบาลอยากให้การบินไทยเป็นองค์กรที่แข็งแรง แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วันนี้ยาก แต่กระทรวงการคลังกำลังเข้ามาดูแล เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือทั้งรัฐบาล เอกชนและการบินไทย ส่วนแผนฟื้นฟูจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ถูกขีดเส้นด้วยสภาพคล่องของการบินไทยอยู่แล้ว และยืนยันว่าการบินไทยยังมีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งหมด”

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวถึงกระแสข่าวว่าจะมีการขายหุ้นเพิ่มทุนการบินไทยให้เอกชนว่า กระทรวงคลังยังไม่ได้หารือกับใคร และขณะนี้กำลังจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งฝ่ายบริหารการบินไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกระทรวงการคลังและคมนาคมช่วยดูในฐานะผู้กำกับดูแล โดยแผนฟื้นฟูที่ออกมาจะมีหลายส่วนทั้งเรื่องการเงิน ยุทธศาสตร์ ความมั่นคงขององค์กร การดูแลบุคลากร และโครงสร้าง

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาและฟื้นฟูการบินไทยเบื้องต้นแล้ว สัปดาห์หน้าจะหารือเรื่องแผนฟื้นฟูในรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง หากสามารถเดินได้ตามแผนที่วางไว้ มั่นใจว่าการบินไทยจะกลับมาแข็งแรง ส่วนจะใช้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไม่จะชัดเจนสัปดาห์หน้า

ผู้บริหารในอุตสาหกรรมการบินระบุว่า แนวทางฟื้นฟูบินไทยมี 3-4 ประเด็น ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจคือ

1.การจัดหาผู้ร่วมทุนที่เป็นเอกชนขนาดใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่อาจเป็นไปได้ยากในยุคที่อุตสาหกรรมการบินกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังไม่เห็นทิศทางว่าจะจบลงเมื่อใด รวมถึงโครงสร้างของการบินไทยมีขนาดใหญ่และมีค่าใช้จ่ายผูกพันจำนวนมาก หากที่มาของรายได้ชะงัก ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายทันที

2. การหาแหล่งเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่องวงเงิน 50,000 ถึง 70,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ แต่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลต้องโดนแรงกดดันจากทุกภาคส่วน เพราะรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ปัญหาเยียวยาประชาชนจากผลกระทบไวรัส และกำลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

ส่วนแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดคือการบินไทยต้องยอมปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง ส่วนไหนที่ไม่สร้างรายได้ต้องปรับลดหรือยุบทิ้ง ส่วนพนักงานหากมีมากกว่าเนื้องานที่รับผิดชอบก็ต้องลดลง สิทธิประโยชน์ต่างๆที่มีก็ต้องปรับหรือตัดออกไป ขณะที่มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันถึงปัจจัยที่จะทำให้การบินไทยอยู่ได้จริงและเดินหน้าต่อไปได้ คือลดสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของกระทรวงการคลังลง หรือลดสถานะความเป็นเจ้าของของรัฐลง ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นเพียงบริษัทมหาชน ไม่ต้องมีรัฐค้ำประกันแบบทุกวันนี้ และให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงานแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม, นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย และผู้บริหารการบินไทย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และตัวแทนพนักงานส่วนงานต่างๆประเด็นที่เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยนายศักดิ์สยามเปิดเผยภายหลังว่า ได้สั่งให้ฝ่ายบริหารการบินไทย กลับไปหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย และพนักงานการบินไทยในส่วนงานต่างๆ ในทุกแผนก เพื่อให้การจัดทำแผนรายละเอียดของการปรับปรุงฟื้นฟูกิจการมีทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้ และให้ส่งแผนฟื้นฟูที่ปรับปรุงกลับมาเสนอกระทรวงภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ในที่ประชุมนั้น ฝ่ายบริหารการบินไทยได้เสนอทางรอดของการบินไทย ว่าให้กระทรวงการคลัง และคมนาคมอนุมัติให้การบินไทยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน บนพื้นฐานที่ว่าไวรัสโควิด-19 ต้องจบภายในเดือน ต.ค.นี้ และการบินไทยสามารถมาทำการบินใหม่ได้ รวมถึงมีการปรับองค์กรใหม่ แต่หากสถานการณ์ล่วงไปกว่านั้นจำนวนเงินที่ต้องใช้จะมากขึ้น โดยขณะนี้การบินไทยมีเงินสดหมุนเวียนเพื่อบริหารจัดการอยู่ 10,000-12,000 ล้านบาท โดยสามารถนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงานได้แค่สิ้นเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการจ่ายให้เจ้าหนี้ ดังนั้นการบินไทยจึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะให้กระทรวงคมนาคมและคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อนุมัติแผนกู้เงินเพื่อมาบริหารจัดการในการบินไทยโดยเร็วที่สุด


แชร์ข่าวนี้