ราคาน้ำมันติดลบ กองทุนเก็งกำไรขายทิ้งหนีตาย

216
แชร์ข่าวนี้

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐฯที่มีราคาลดลงอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นราคาส่งมอบของเดือน พ.ค. ที่ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ถือสัญญาซื้อขายน้ำมันดังกล่าว ซึ่งก็คือกองทุนเก็งกำไรหรือกลุ่มผู้ค้าน้ำมันตลาดโลก ต้องจำใจเทขายออกมา เพราะถ้าไม่ขายออกมาก็ต้องแบกรับภาระสต๊อกน้ำมันดิบที่ถือไว้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ ในตลาดโลก

นายมนูญ กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสต้องเผชิญวิกฤติราคาตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะขณะนี้ความต้องการใช้น้ำมันในโลกลดลงต่อเนื่อง ในทุกๆประเทศเพราะปัญหาไวรัสโควิด-19 การที่กองทุนเก็งกำไรน้ำมันต้องเทขายน้ำมันเวสต์เท็กซัสออกมา โดยขายในราคาติดลบ 37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือเท่ากับว่าต้องแถมเงินให้กับลูกค้าอีก 37 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพราะต้องการระบายน้ำมันที่ล้นสต๊อกออกไปโดยเร็วที่สุด โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวคือวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.เป็นต้นไป ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะวันที่ 21 เม.ย.เป็นวันเริ่มต้นของราคาน้ำมันดิบสำหรับส่งมอบในเดือน มิ.ย. ซึ่งราคาเวสต์เท็กซัสก็ดีดตัวกลับไปที่ระดับ 20 เหรียญฯต่อบาร์เรลแล้ว

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันโลกอยู่ในภาวะปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล้นโลกและหากไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อก็จะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวอยู่ต่อไปอีกหลายๆเดือน โดยล่าสุดทั่วโลก ใช้น้ำมันรวมกันวันละ 70 ล้านบาร์เรล ขณะที่กำลังการผลิตจากโอเปกและนอกโอเปกผลิตรวมกันวันละ 80-90 ล้านบาร์เรล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังทรงตัว โดยการปิดเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้และราคาน้ำมัน แม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะร่วมกันลดปริมาณการผลิตในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ก็อาจไม่มีผลต่อราคาน้ำมันมากนัก


แชร์ข่าวนี้