ร้องคุมแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หวั่นใช้สะสม ก่ออันตราย

336
แชร์ข่าวนี้

เตือนใช้แอลกอฮอล์เกรดพลังงาน มาทำเจลและสเปรย์ฆ่าเชื้อ อาจมีสารปนเปื้อน ร้องหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลคัดเลือกโรงงานที่นำแอลกอฮอล์มาใช้ให้เหมาะสม หวั่นเป็นอันตรายกับประชาชนหากใช้สะสมเป็นเวลานาน ด้านเอกชนผู้ผลิตแอลกอฮอล์ Food Grade แนะวิธีดูผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแอลกอฮอล์ Food Grade ชี้โรงงานแอลกอฮอล์ Food Grade ต้องผ่านมาตรฐานขั้นสูง

นายวีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่ภาครัฐอนุญาตให้โรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์เกรดที่ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง คือนำมาเติมในน้ำมันเบนซิน หรือเรียกว่าแอลกอฮอล์เกรดพลังงาน ที่มีการนำออกมาขายให้ผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมทำน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19

โดยนายวีรชัย กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแล คัดเลือกเอทิลแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ทำเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่จะต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงของประชาชนซ้ำๆวันละหลายครั้งและต่อเนื่องทุกวันในช่วงนี้ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า เอทิลแอลกอฮอล์ของโรงกลั่นแอลกอฮอล์เกรดพลังงาน ที่มีหอกลั่นเพียง 1-2 หอ มีสารปนเปื้อน ไม่บริสุทธิ์ หากนำออกมาโดยไม่คัดกรองโรงงานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน เพราะโรงกลั่นแอลกอฮอล์ระดับเกรดอาหารนั้น หอกลั่นต้องกลั่นอย่างน้อย 5 หอขึ้นไป เช่น องค์การสุรา ที่มีถึง 7 หอกลั่น ซึ่งจะได้แอลกอฮอล์ที่สะอาด บริสุทธิ์ปลอดภัย ในการนำไปทำเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์

“เอทิลแอลกอฮอล์บางโรงงานมีปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์สูงกว่ากำหนด ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อมนุษย์ หากใช้ซ้ำๆและเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และบางตัวอย่างยังพบว่ามียาฆ่าแมลงปนเปื้อนด้วย เพราะการกลั่นมาจากการหมักวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งมีการใช้ยาฆ่าแมลงมาก่อน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลแบบเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน”

ร.ต.อ.อรรถกวี ขุนพินิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเนี่ยนเคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ระดับเกรดอาหาร (Food Grade) และ Pharmaceutical Grade ภายใต้ชื่อสินค้า Union Solution A ที่มีความบริสุทธิ์ 95% ขึ้นไป เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดทั้งด้านสุขภาพ ความปลอดภัยของผู้บริโภคและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแอลกอฮอล์ของบริษัทใช้มาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยีที่สูงกว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง ที่ได้รับอนุญาตให้นำมาจำหน่ายถึง 30 ก.ย.63 เท่านั้น และเป็นเกรดที่สูงกว่าแอลกอฮอล์ที่มาจากการสังเคราะห์ ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า แอลกอฮอล์จากโรงงานเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ใช่ Food Grade หรือ Pharmaceutical Grade แต่พบว่ามีการอ้างจำนวนมากว่าเป็น Food Grade

โดยวิธีดูคุณภาพแอลกอฮอล์ระดับ Food Grade นั้น ตรวจสอบเบื้องต้นได้โดย

1.สังเกตสี ต้องใสและไม่มีสี ไม่มีรสขม

2.สถานที่ผลิตต้องได้รับการอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2) จากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

3.ผลิตภัณฑ์ต้องได้ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (แบบ อ.18) จาก อย.

4.โรงงานผู้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตให้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้

5.ต้องได้การรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ และต้องระบุว่าเป็นโรงงานผู้ผลิต (Manufacturing) ไม่ใช่แค่ผู้จำหน่าย (Trader) หรือผู้นำเข้า

6.ต้องตรวจสอบด้วยว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ที่ผู้จำหน่ายนำไปจดแจ้งกับ อย. ประเภทเครื่องสำอางนั้น สารตั้งต้นในการผลิตเจลล้างมือมาจากแอลกอฮอล์ชนิดใด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเอง ซึ่งส่วนมากจะแจ้งว่ามีหมายเลขจดแจ้งประเภทเครื่อง สำอางกับ อย. แล้ว แต่ไม่ได้แจ้งที่มาของแอลกอฮอล์ที่นำมาผลิต

7.สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ระดับ Food Grade ต้องมีใบรับรองมาตรฐานต่างๆครบถ้วน และที่ขาดไม่ได้คือต้องมีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (แบบ อ.18) จาก อย. จึงสามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตแอลกอฮอล์ Food Grade ได้ เช่น ยีสต์ และเอนไซม์

ขอขอบคุณ

แหล่งที่มา : ไทยรัฐออนไลน์


แชร์ข่าวนี้