ฝ่ายค้าน ยื่น สตง. สอบรัฐ ใช้งบกู้ฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้าน หวั่นกู้ไปผลาญ ชาติล้มละลาย

124
แชร์ข่าวนี้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 พ.ค. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลุ่มคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน นำโดยนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังปวงชนไทย เดินทางมาที่ สตง. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ สตง. ตรวจสอบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ทั้งการใช้งบประมาณ และการกู้เงินผ่านพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

โดยเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินทั้งหมดต่อประชาชน จากการดำเนินนโยบายในหลายเรื่อง ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายนิคม กล่าวว่า ในฐานะเป็น ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน มีความกังวลว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐอาจจะไม่มีความโปร่งใส จึงคิดว่า สตง. โดยเฉพาะ ผู้ว่า สตง. ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการใช้เงินทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพราะว่าปกติแล้ว สตง. จะตรวจสอบเฉพาะปลายน้ำเท่านั้น แต่เห็นว่า สตง. ต้องทำทั้ง 3 ส่วน อย่ารอตรวจสอบแค่ปลายน้ำอย่างเดียว เพราะจะสายเกินแก้ อย่าลืมว่าอ้อยเข้าปากช้างแล้วสุดท้ายต้องไปตรวจสอบขี้ช้างแทน

ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่ทีแรกจะดีกว่า เพราะการใช้งบครั้งนี้เป็นการใช้งบประมาณแบบเร่งด่วน และใช้จำนวนมาก รวมถึงมีการกู้เงินผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับ ซึ่งถือเป็นการกู้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีแผนการหารายได้มาชดเชยเงินก้อนนี้อย่างไร และเชื่อเหลือเกินว่าภาระเหล่านี้จะตกไปที่ลูกหลาน อย่าให้คนไปพูดได้ว่า “ลุงกู้ไปผลาญ ลูกหลานต้องมาใช้หนี้แทน” ไม่อยากให้มีคำนี้

นอกจากนี้ การใช้งบประมาณครั้งนี้ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเกี่ยวข้องด้วย อาจจะทำให้การตรวจสอบการใช้งบประมาณ โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้เป็นห้วงเวลาของการปิดสภาพอดี จึงคิดว่า หน่วยงานที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คือ สตง. จะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนในการใช้งบประมาณ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลยังไม่ถูกเป้าหมายเท่าที่ควร

จากการที่มีประชาชนหลายกลุ่มมาร้องเรียนว่า ตัวเองลงทะเบียนผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว แต่ยังไม่ได้เงิน 5 พันบาท ส่วนบางคนที่ได้เงินก็ออกมาให้ข่าวว่าเงินที่ได้เหมือนเงินที่วางไว้หลังตู้เย็น จึงมีความข้องใจว่า ระบบเอไอของรัฐบาลที่ทำขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการจ่ายเงินนี้มีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ และการจ่ายเงินมีการจ่ายอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและตรงเป้าหมายคนเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร เนื่องจากเงินเหล่านี้เป็นเงินภาษีของประชาชน

“ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีการกู้เงิน ผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับ และเป็นการกู้เงินมากที่สุด การกู้เงินขึ้นมา ประชาชนทุกคนไม่ว่าใครก็แล้วแต่ต้องมาเป็นหนี้ร่วมกัน การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้ด้านสาธารณสุขดูแลเรื่องโควิด-19 จริง ๆ ส่วนอีก 5.55 แสนล้านบาท ที่จะนำมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนนี้อยากทราบว่าประชาชนจะได้รับเงินกันทั่วถึงหรือไม่” นายนิคม กล่าว

นอกจากนี้ การจ่ายเงินเป็นล็อตๆ บางคนก็ยังไม่ได้เลย และการจ่ายเงินให้ประชาชนมีความล่าช้า เพราะการทำงานที่ล่าช้าถือเป็นการทุจริตอีกอย่างหนึ่ง และอีกก้อนคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งหากมองภาพรวมการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องดี แต่ยังมี พ.ร.ก.กู้เงินอีก 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับช่วยเอสเอ็มอี ก็ต้องไปดูว่าช่วยทุกกลุ่ม อย่าช่วยเฉพาะกลุ่มทุน หรือพรรคพวกตัวเอง และอีกฉบับวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เงินก้อนหนี้น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นเงินที่จะนำไปช่วยกลุ่มทุน ซึ่งไม่ได้ใช้ช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก แต่ประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้กลับต้องร่วมเป็นหนี้ด้วย

ทั้งนี้ มองว่าการเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งคนยากจน คนร่ำรวย หรือข้าราชการที่บางคนเงินเดือนไม่พอ ก็ต้องหางานพิเศษทำ ฉะนั้นปัญหาเกิดที่การจ่ายเงินของรัฐบาลทำไม่ทั่วถึง จ่ายเงินล่าช้า และจ่ายไม่พร้อมกัน เหล่านี้คือความเป็นห่วงที่เกิดจากการบริหารราชการของรัฐบาลชุดนี้ เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศก็มีการกู้เงินทุกปี จนมาถึงปัจจุบันการบริหารที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ป้องกันตั้งแต่ทีแรก จนทำให้มีการระบาดทั่วประเทศ จนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจะไม่พังขนาดนี้

“รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจพังพินาศ ไปปิดบริษัท ห้างร้าน แล้วกลายเป็นว่าทุกคนตกงาน ขณะที่เดิมทีประเทศเราก็มีคนก็ตกงาน ยากจนอยู่แล้ว นี่มาปิดประเทศอีก แม้ว่าจังหวัดไหนจะไม่มีการระบาดก็ถูกปิดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีใช้เคอร์ฟิว เป็นการทับถมชาวบ้าน อยากถามว่าการประกาศเคอร์ฟิว การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่ออะไร ในมุมผมเองถ้ามองในเชิงการเมือง การใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมหรือไม่ หรือเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่คิดได้เช่นกัน” นายนิคม กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลควรเปิดให้มีการค้าขายปกติได้แล้ว ที่ผ่านมามีการปิดนานเกินไปแล้ว โรคที่รักษาไม่ได้คือ โรคเรื้อรังจากเศรษฐกิจ โรคเรื้อรังจากความยากจน เพราะโรคนี้ไม่มียา ไม่มีหมอ ไม่มีโรงพยาบาลรักษา ฉะนั้นประชาชนต้องมีงานทำ ต้องเปิดประเทศ อย่าเปิดเพียงบางส่วน หรือเปิดแค่เล็กน้อย เพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากฟันเฟืองเศรษฐกิจหากไม่สามารถหมุนไปพร้อมกันได้ หรือเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่อง แต่เปิดแค่ 2 เครื่องอีก 2 เครื่องดับ

ถามว่าค้าขายได้ไหม ห้างเปิดมีใครซื้อไหม เพราะประชาชนยังเดินทางเข้า กทม. ทำงานพร้อมกันไม่ได้ แรงงานไม่มี ทุกคนกลับบ้านหมดแล้ว นี่คือความลำบากของประชาชน ผู้ประกอบการและนักธุรกิจ รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ตอนนี้ทุกส่วนแย่มาก ถ้าจะพูดว่าฉิบหายก็ได้ เพราะเป็นเรื่องจริง ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไปมากกว่านี้ บอกได้เลยว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ล้มละลายได้ ขอให้อย่าประมาท” นายนิคม กล่าว

สำหรับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณนั้น นายนิคม ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่ควรต้องทำอยู่แล้ว และพร้อมสนับสนุน เพราะเป็นประโยชน์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังใช้งบประมาณ และตอนนี้สภาปิด รัฐบาลก็อาจใช้จังหวะนี้ในการตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อใช้งบประมาณ

“ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ถ้าท่านมีจิตสำนึกว่าท่านเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ก็ควรจะมาลงชื่อเพื่อให้มีการเปิดสภาให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจสอบการใช้งบ อย่าปล่อยให้ภาระเหล่านี้กลายเป็นหนี้สาธารณะ จนสุดท้ายลูกหลานเหลนโหลนต้องมานั่งรับกรรม ฝ่ายค้านทำได้เต็มที่ได้แค่นี้ ก็หวังว่าฝ่ายรัฐบาลจะมี ส.ส. สัก 1-2 หรือ 30-40 คนมาที่เกิดมีจิตสำนึกมาร่วมลงชื่อ เราจะดูว่ามีสักคนไหม” นายนิคม กล่าว

cr. ข่าวสด


แชร์ข่าวนี้