นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นจุดต่ำสุดแล้ว หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้รัฐผ่อนคลายให้บางธุรกิจเปิดกิจการได้มากขึ้น หากไวรัสโควิด-19 ไม่กลับมาแพร่ระบาดอีก จะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติภายใต้ภาวะปกติใหม่ (New Normal)
ประกอบกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆออกมาตรการเยียวยาที่ต้องใช้เงินในการฟื้นฟู 20% ของจีดีพี ทำให้ล่าสุดกกร.ประเมินจีดีพีปีนี้จะติดลบที่ ลบ 3 ถึงลบ 5% ซึ่งเป็นการติดลบน้อยกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 6.7%
“ล่าสุดกกร.ประเมินจีดีพีจะติดลบอยู่ที่ ลบ 3 ถึง ลบ 5% จากที่เดือน มี.ค.ประเมินจีดีพีจะขยายตัว 1.5-2.0% ขณะที่การส่งออกมีโอกาสติดลบ 5.0 ถึงลบ10.0% จากเดิมคาดการณ์ ลบ 2.0 ถึง 0.0% โดยเบื้องต้น กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปตัวแอลหางยาว และอนาคตหากโควิด-19 ไม่กลับมาระบาดอีก จากตัวแอลหางยาวก็มีโอกาสเป็นตัวยูได้ แต่คงไม่ใช่ตัววีแน่นอน”
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กกร.ยังหารือถึงจุดยืนของภาคเอกชนต่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยพบว่ามีความเห็นหลากหลาย ดังนั้น กกร.จึงเสนอให้ภาครัฐ ตั้งคณะกรรมการที่มีทุกฝ่ายเข้าร่วม ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพื่อให้ภาครัฐทราบจุดยืนที่ชัดเจน และ กกร.ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดมี 4 หน่วยงานคือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทย กระทรวงพาณิชย์ และสภาเกษตรแห่งชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอ โดยจะหาข้อสรุปร่วมกันภายใน 1 เดือน
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคลายล็อกจากรัฐบาล ทำให้ภาคธุรกิจจะให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม ลดเหลือ 50% จากจำนวนพนักงานที่ทำงานที่บ้านโดยจะคงมาตรการนี้อีก 1 เดือน เพื่อลดการแออัด และคาดกลาง พ.ค.นี้ รัฐจะผ่อนปรนให้ร้านค้าขนาดใหญ่หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงปานกลาง อาทิ ห้างสรรพสินค้า กลับมาเปิดดำเนินการได้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวเลขการติดเชื้อช่วงคลายล็อก
cr. ไทยรัฐ