ธนาธร แนะรัฐลดถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0-25% เปิดทาง 5 ยักษ์เอกชนซื้อกิจการ

207
แชร์ข่าวนี้

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) เวลาประมาณ 21.00 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย 5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในช่วงที่ไม่สามารถให้บริการได้ และยังต้องมีการเพิ่มทุนก้อนที่ 2 อีก 8 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.3 แสนล้านบาท ถ้าหากเทียบกับงบประมาณของประเทศราว 3 ล้านล้านบาทต่อปี เงินก้อนนี้ก็คิดเป็นประมาณ 3-4% ของงบประมาณทั้งหมด

นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูยังกำหนดให้การบินไทยต้องลดต้นทุนจาก 2 แสนล้านบาท เหลือ 1.3 แสนล้านบาท หรือลดลง 42% ภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้ามองในฐานะคนทำธุรกิจ เพราะหากลดต้นทุนได้ 42% การบินไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอเงิน 1.3 แสนล้าน แผนดังกล่าวจึงไม่มีความน่าเชื่อถือและน่าจะทำเพื่อขอเงินจากรัฐบาลเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้กำหนดให้ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ผู้บริหาร คณะกรรมการ (บอร์ด) ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ร่วมด้วย

“ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล เพราะถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย ไม่ว่าการบินไทยขาดทุนเท่าไหร่ ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแบกหนี้” นายธนาธร กล่าวช่วงหนึ่งในระหว่างที่กำลังไลฟ์

ทั้งนี้ การบินไทยมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งเมื่อหารเฉลี่ยต่อคน ปรากฏว่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ 1.8 แสนบาทต่อเดือน, การบินไทย 1.2 แสนบาทต่อเดือน, เจแปนแอร์ไลน์ 5.5 หมื่นบาทต่อเดือน โคเรียนแอร์ไลน์ 3.4 บาทต่อเดือน

compare-airlines-employee-ben

แต่ประสิทธิภาพกลับต่ำกว่า โดยเมื่อนำยอดขายปี 2562 หารด้วยจำนวนพนักงาน เวียดนามแอร์ไลน์อยู่ที่ 20 ล้านบาทต่อคนต่อปี, โคเรียนแอร์ 15 ล้านบาทต่อคนต่อปี, สิงคโปร์แอร์ไลน์ 13.9 ล้านบาทต่อคนต่อปี, เจแปนแอร์ไลน์ 12.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี และการบินไทย 8.8 ล้านบาทต่อคนต่อปี แสดงว่าการบินไทยมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่ประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำกว่า แสดงถึงความล้มเหลวของการบริหารองค์กร ในการดึงศักยภาพพนักงานมาแปลงเป็นผลกำไร

ดังนั้น การบินไทยจึงหนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน โครงสร้างบริหาร ถ้าหากต้องการเห็นว่าควรมีสายการบินแห่งชาติต่อไป โดยปลายทางมี 4 ตัวเลือก ได้แก่

  • รัฐบาลถือหุ้นในการบินไทย 0% หรือไม่ถือเลย
  • รัฐบาลถือหุ้นส่วนน้อยไม่เกิน 25%
  • รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 51%
  • รัฐบาลยึดกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด ถือหุ้น 100%

โดยการจัดการในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 3 แบบ ดังนี้

1. ปล่อยการบินไทยล้มละลาย

แล้วให้กลไกตลาดจัดการ ถ้ามีคนสนใจก็จะมาซื้อเอง ซึ่งนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า ทุกสายการบินได้รับการปฏิบัติที่เท่าทียมกัน โดยสุดท้ายรัฐบาลจะถือหุ้น 0% ในการบินไทย ประชาชนได้ตั๋วราคาถูกลง มีเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น

2. เข้าไปช่วยการบินไทยในระยะสั้น เพื่อนำไปสู่การขายหุ้น

โดยรัฐบาลปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือเรียกว่าเป็นการล้มละลายอย่างมีการจัดการ (bridge loan) โดยรัฐบาลจะนำการบินไทยไปเปิดประมูล ผู้ชนะการประมูลต้องคืนเงิน 5 หมื่นล้านบาทกลับมาเป็นของรัฐบาลและรัฐบาลลดการถือหุ้นเหลือ 0%-25%

3. ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ

โดยตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทิ้ง แล้วรัฐบาลถือหุ้น 100% (nationalization) เหมือนกรณีเจแปนแอร์ไลน์ จากนั้นนำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูและปรับปรุงกิจการ ในอนาคตรัฐบาลอาจลดการถือหุ้นลง หรือถือ 100% เหมือนเดิมก็ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลอุ้มการบินไทยหลายครั้ง แต่การบินไทยไม่สามารถปรับปรุงตัวเองได้ จึงควรตัดตัวเลือกที่รัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้น 51-100% ออกไป วิธีที่ดีที่สุดคือ เปิดเสรีน่านฟ้าแล้วรัฐบาลลดการถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0-25% ถ้าหากยังถือหุ้นอยู่ในเชิงยุทธศาสตร์ ก็ให้ถือหุ้นส่วนน้อยและเรียกใช้การบินไทยเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

สำหรับผู้ที่มีอำนาจเพียงพอที่จะซื้อการบินไทยได้ในตอนนี้ ได้แก่

– กลุ่มทุนไทย 5 กลุ่ม ได้แก่ ซีพี, ไทยเบฟ, บีทีเอส, กัลฟ์ และคิง เพาเวอร์ เพราะทั้ง 5 กลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้

– ต่างชาติ โดยเฉพาะสายการบินจีน เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีน

– สายการบินอื่นๆ แต่ก็เป็นไปได้น้อย เพราะสายการบินอื่นๆ ล้วนแต่ประสบปัญหาความลำบากในช่วงนี้ทั้งนั้น

– กองทุนจากภาคการเงิน อาทิ private equity หรือ hedge fund เข้ามาซื้อเพื่อฟื้นฟูกิจการและขายเข้าตลาดทำกำไร

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้