ปิดห้างทำรายได้ระบม ยอดขายวูบ 5 แสนล้าน

203
แชร์ข่าวนี้

เดอะมอลล์-เซ็นทรัลดีใจได้เปิดห้าง หลังถูกปิดทำเงินหาย 5 แสนล้านบาท เดอะมอลล์เปิด 100 มาตรการคุมเข้ม จะเข้าห้างต้องเช็กอิน เผยพื้นที่ขายสินค้าจะลดลงครึ่งหนึ่งเพื่อเว้นระยะห่าง ด้านเซ็นทรัลเตรียมใช้ลิฟต์ไร้สัมผัส ไม่ต้องกดให้เสี่ยงติดไวรัส

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ทางเดอะมอลล์กรุ๊ปได้เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัย ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก 34 มาตรการย่อยสำหรับลูกค้า และ 6 มาตรการเสริม 66 มาตรการย่อย สำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจ รวมกว่า 100 มาตรการ โดยกลยุทธ์หลักคือการสร้าง TMG TOUCHLESS SOCIETY หรือสังคมไร้สัมผัส นับตั้งแต่ขับรถเข้าที่จอดรถ จนถึงขั้นตอนชำระเงิน

เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าไปในศูนย์การค้า ลูกค้าทุกคนจะต้องเช็กอินเพื่อเข้าไปศูนย์ ซึ่งทำได้ 3 รูปแบบคือ 1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MCARD ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 700,000 ราย ลูกค้าสามารถเช็กอินมาจากที่บ้านได้เลย ทันทีที่มาถึงแสดงแอปให้เจ้าหน้าที่และผ่านเข้าประตูได้เลยโดยไม่ต้องรอคิว 2.เช็กอินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดและแอปพลิเคชันไลน์ 3.กรอกแบบฟอร์มหน้าศูนย์

นางสาววรลักษณ์ กล่าวว่า ช่วงแรกประเมินว่าลูกค้าจะลดลงกว่าปกติ 30-40% โดยพฤติกรรมการซื้อสินค้าหลังวิกฤติโควิดจะเปลี่ยนแปลงไป เน้นซื้อสินค้าจำเป็นมากกว่าซื้อตามอารมณ์ โดยสินค้าใช้ในครัวและใช้ในบ้าน ทำยอดขายขึ้นท็อป 5 จากปกติมีสัดส่วนการขายเพียง 5-10% เท่านั้น และพฤติกรรมช็อปปิ้งจะเร็วขึ้น ลูกค้ามีการวางแผนมาจากบ้านเป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ปิดศูนย์การค้าไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2563 ยอดขายรวมหายไปถึง 70-80% เพราะมีเพียงซุปเปอร์มาร์เกตและช็อปออนไลน์เท่านั้น

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป และกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตลาดค้าปลีกปีนี้ จะหดตัวราว 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 500,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 ที่อยู่ราว 3.5 ล้านล้านบาท โดยมีผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลง, กำลังซื้อที่ลดลง, สต๊อกสินค้าที่ขาดแคลน เช่น สินค้านำเข้าจากจีนและกำลังการผลิตที่หดตัวลง

โดยต่อไปทางเดอะมอลล์กรุ๊ป ได้วางแผนธุรกิจเดินหน้าก้าวสู่ดิจิทัลเต็มตัว แต่รูปแบบของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ายังเป็นหลักอยู่ เพราะแม้การช็อปปิ้งออนไลน์จะเติบโตสูงมาก แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนเล็กน้อยทั้งในต่างประเทศหรือแม้กระทั่งในจีน “หลังการเปิดศูนย์การค้าเราจะเห็นภาพใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พื้นที่ศูนย์การค้าจะลดลงเหลือ 50% หรือหากบริหารดีๆ อาจเหลือ 70% เพราะต้องเข้มงวดตามมาตรการรักษาระยะห่างหรือ social distancing และมาตรการที่เข้มงวดที่นำมาใช้เพื่อความมั่นใจให้กับลูกค้าให้มากที่สุด”

ทางด้านนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทางบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุด ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ได้นำร่องนวัตกรรมต้นแบบลิฟต์ไร้การสัมผัส (Touchless Lift) ซึ่งกำลังทดสอบและพัฒนาต่อไป โดยมีวิธีการใช้ง่ายๆ เพียงลูกค้าใช้นิ้วผ่านเหนือปุ่มเซ็นเซอร์เพื่อไปยังชั้นที่ต้องการ ระบบก็จะทำงานทันทีโดยอัตโนมัติ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องสัมผัสปุ่มกดใดๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของวิถีใหม่

นอกจากนี้ในช่วงที่มีการปิดศูนย์การค้าบางส่วน เซ็นทรัลได้มีการบำรุงรักษาระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ มีการเปิดระบบปรับอากาศบางส่วนทุกวัน ซึ่งทำให้มีการหมุนเวียนของอากาศในพื้นที่ และมีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมกลับมาให้บริการ และเพื่อเป็นการช่วยผลักดัน ‘เศรษฐกิจชุมชน’ เซ็นทรัลพัฒนาจะเปิดพื้นที่ให้กับเกษตรกร หรือ ธุรกิจ SMEs นำสินค้ามาค้าขายได้ฟรี โดยมีพื้นที่ 30,000-40,000 ตร.ม. ในศูนย์การค้าทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3-6 เดือน และช่วยเหลือในการโปรโมตจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ต่างๆด้วย

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้