สาธารณสุขจับมือ Airbnb สนับสนุนที่พักให้นักรบเสื้อขาวสู้โควิด-19 นำร่อง 14 จังหวัดก่อน

209
แชร์ข่าวนี้

กระทรวงสาธารณสุข จับมือบริษัท Airbnb จัดโครงการฟรอนท์ไลน์ สเตย์ สนับสนุนที่พักให้บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคโควิด-19 นำร่องใน กทม. และ 13 จังหวัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มสถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) ให้ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศที่ต้องการบริการพิเศษ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

บ่ายวันนี้ (22 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงความร่วมมือโครงการจัดหาที่พักแก่ผู้ปฏิบัติงานแนวหน้าโควิด-19  (Frontline Stays)

นายสาธิต กล่าวว่า  ในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาล เฝ้าระวัง และคัดกรองโรค ส่งผลให้ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คงเข้มมาตรการป้องกัน หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง หรือปรับพฤติกรรมตามวิถีชีวิตใหม่ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้

การที่บริษัทแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ได้จัดโครงการจัดหาที่พักแก่ผู้ปฏิบัติงานแนวหน้า หรือฟรอนท์ไลน์ สเตย์ (Frontline Stays) ในประเทศไทย จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. มีที่พักที่ปลอดภัย ใกล้ที่ทำงาน เพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปปฏิบัติงานในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และช่วยคลายความกังวลว่าอาจนำเชื้อไปให้คนในครอบครัว ขณะนี้มีที่พักร่วมโครงการแล้วกว่า 800 แห่ง เป็นที่พักที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย 200 แห่ง และที่เหลือเป็นที่พักในอัตราพิเศษ

ขณะที่ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า โครงการฟรอนท์ไลน์ สเตย์ นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี พญาไท คันนายาว และบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนแพทย์ และในส่วนภูมิภาค นำร่อง 13 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา กระบี่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และพระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมือง และอาจจะขยายเพิ่มจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. สามารถจองที่พักผ่านแอปพลิเคชัน Airbnb ด้วยตนเอง ส่วนระยะเวลาในการเข้าพักนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของ Airbnb คือ ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน ผู้เข้าพักจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างที่เข้าพัก และเมื่อออกจากที่พักแล้ว เจ้าของที่พักจะต้องเว้นการเปิดบริการที่พักเป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาด สำหรับประชาชนที่ต้องการที่พักเพื่อลดความเสี่ยงของครอบครัว จะมีการหารือรายละเอียดในระยะต่อไป

นอกจากนี้ สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องถูกกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) หรือในโรงแรมที่เป็นสถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) ที่ผู้เข้าพักต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งมีข้อกำหนดตามเงื่อนไขและระบบการดูแลสุขภาพเช่นเดียวกัน เช่น มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทีมแพทย์ พยาบาลเข้าไปดูแล การตรวจเพาะเชื้อตามกำหนดเวลารวม 2 ครั้ง และเพิ่มเติมเรื่องโรงแรมที่เข้าโครงการจะต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา ดูแลสุขภาพและให้การรักษาตลอดระยะเวลาที่กักตัว

โดยโรงแรมจะต้องประเมินตนเอง และผ่านการตรวจประเมินของคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหม ขณะนี้มี 4 แห่ง จำนวนห้อง 303 ห้อง มีผู้เข้าพักแล้ว 172 ห้อง คงเหลืออีก 131 ห้อง

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ :AFP

แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้