คลัง เคลียร์ภาษีที่ดินใหม่ยึดตามมูลค่า ปิดช่องโหว่ภาษีบำรุงท้องที่-โรงเรือน

185
แชร์ข่าวนี้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกรณีที่ที่ดินทำเลทอง ปลูกกล้วยหรือมะนาว เพื่อหวังให้เข้าข่ายพื้นที่เกษตรกรรม เช่น สวนกล้วยซอยเอกมัย สวนมะนาวรัชดาฯจะอุดช่องโหว่ตรงนี้อย่างไรว่า ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างได้เอาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของภาษีเดิม คือภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน

เจตนารมณ์ของเราคือกรณีที่ยกตัวอย่างมา สิ่งที่ทำได้วันนี้ หากเปรียบเทียบที่ดินแปลงหนึ่งที่เป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” หากเป็นภาษีประเภทเดิมจะเสียภาษีประมาณปีละ 1 แสนบาท แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ว่าจะนำไปทำเกษตรกรรมด้วยการปลูกพืชให้เข้าตามเกณฑ์เกษตรกรรม แต่เนื่องจากที่ดินอยู่ในทำเลทอง ดังนั้นจะต้องเสียภาษีต่อปีประมาณ 2 ล้านบาท เพราะพิจารณาจากมูลค่าที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างรวมกัน

“ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ แม้ว่าจะทำเกษตรก็จะเสียภาษีแพงกว่าเดิม 20 เท่า เป็นต้นทุนของผู้สะสมความมั่งคั่งด้วยการถือครองที่ดิน ฉะนั้นจะต้องคำนึงแล้วว่าเสียภาษีปีละ 2 ล้านคงไม่สนุก…ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบภาษี จากเดิมที่จัดเก็บไม่ได้ มาจัดเก็บได้และจัดเก็บได้มากกว่าเดิม 20 เท่า เวลาผ่านไป ระบบภาษีเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคิดว่าอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ถึงแม้ว่าจะทำดีกว่าเดิมแล้ว แต่ถ้ายังดีไม่พอ ต้องการสิ่งที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ เวลาผ่านไป 3-4 ปีเรามาดู แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ภาษีใหม่ขอให้มัน Smooth ครับ” นายลวรณ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้” 

ส่วนกรณีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในกฎหมายลูกระบุว่าไม่ว่าจะมีบ้านกี่หลังก็ตาม จะอยู่เอง หรือให้เช่า จะเสียภาษีในอัตราที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยทั้งหมด และจะได้รับการยกเว้นหากมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นบ้านที่ไม่ได้อยู่อาศัย แต่เก็บไว้เป็นบ้านพักผ่อนต่างจังหวัด หรือปล่อยให้เช่าจะเสียภาษีในอัตราล้านละ 200 บาท ไม่ใช่ล้านละ 3,000 บาท อย่างเดิม

“ประกาศที่ออกมาใหม่มีความชัดเจน ที่อยู่อาศัยใช้เพื่อการอยู่อาศัย จะอยู่เองหรือใครอยู่ ก็เป็นที่อยู่อาศัย”นายลวรณ กล่าว

สำหรับกรณีที่ไม่เก็บภาษีบ้านหลังที่ 2 เพื่อให้เช่า แพงกว่าบ้านที่ 2 เพื่ออยู่อาศัย นายลวรณ กล่าวว่า ในหลักการของภาษีจะดูการใช้ประโยชน์ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นใช้ประโยชน์เพื่อการใด หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัย แต่หากให้เช่า ก็จะต้องเสียภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราที่อยู่อาศัย ขณะที่รายได้จากค่าเช่าจะเสียภาษีเงินได้ นี่คือหลักการภาษีที่ถูกต้อง

“เปรียบเทียบกรณีคนรวยมีบ้านหลังเดียวราคา 4.8 ล้านบาท ไม่เกิน 5 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี กับคนไม่รวยมีบ้าน 2 หลัง หลังนึงอยู่เองอีกหลังให้พ่อแม่อยู่ แต่ราคารวมกัน 4.8 ล้านบาท หลังแรกไม่เสียภาษี แต่หลังที่ 2 ต้องเสียภาษี นายลวรณ กล่าวว่า หลักการภาษีมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าใครจะมีกี่หลัง หลังแรกได้รับการยกเว้น 50 ล้านบาททุกคน หลังที่ 2 ก็เก็บทุกคนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเปรียบเทียบว่าคนฐานะไม่ดีมีบ้าน 3 หลัง คนฐานะดีมีบ้านหลังเดียว แต่คนฐานะดีก็มีโอกาสมีบ้านหลายหลังเหมือนกัน ยืนยันว่าเก็บทุกคนเท่าเทียมกัน”

ส่วนการครอบครองที่ดินในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลมีความแตกต่างกันหรือไม่ นายลวรณ กล่าวว่า ถ้าเป็นที่ดินเกษตรจะเห็นความแตกต่าง ที่ดินเกษตรจะได้รับการยกเว้นต่อเมื่อเป็นที่ดินของบุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นที่ดินของนิติบุคคลไม่ได้รับการยกเว้นในส่วนของ 50 ล้านบาทแรก โดยจะเก็บภาษีตั้งแต่มูลค่าบาทแรก

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้