ญี่ปุ่น ปรับจัดโอลิมปิกเกมส์ เรียบง่าย – ไอโอซี แสดงจุดยืนต้านเหยียดผิว

198
แชร์ข่าวนี้

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซีเมมเบอร์ กล่าวว่า การประชุมบอร์ดบริหารของไอโอซี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ได้มีการรับทราบข้อมูลล่าสุด จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 ในเรื่องการวางแผนงานและการเตรียมงานสำหรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ประเด็นสำคัญในการรายงานข้อมูลของคณะกรรมการจัดการแข่งขันเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดยืน, หลักเกณฑ์ในการวางแผนงานใหม่ และแผนระยะยาว สู่การแข่งขันโอลิมปิกในปี 2021

รายงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำเสนอโดย โยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการ และ โตชิโร มูโตะ ซีอีโอคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ในส่วนของรายงานการดำเนินงานของฝ่ายไอโอซี ภายใต้คณะทำงาน “Here we go” จอห์น โคเตส ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการประสานงานจัดการแข่งขัน เป็นผู้ให้ข้อมูล

สำหรับข้อมูลล่าสุด ในส่วนของเจ้าภาพประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้เน้นในเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสที่มีต่อการแข่งขันโอลิมปิก โดยได้มีการดำเนินการหลายอย่างนับตั้งแต่ได้มีการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขัน นำไปสู่การกำหนดวันจัดแข่งขันใหม่ในปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันร่วมขึ้นมา

นอกจากนั้น ยังได้มีการพิจารณาโอกาสและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการแข่งขัน และลดระดับการจัดงาน ให้มีความกระชับมากขึ้น เป็นการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนจัดการแข่งขัน

ทั้งนี้ บอร์ดบริหารไอโอซีได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบในเรื่องจุดยืน, หลักเกณฑ์ในการวางแผนงานใหม่ และแผนระยะยาว สู่การแข่งขันโอลิมปิกในปี 2021 สำหรับจุดยืนและหลักเกณฑ์นั้น ได้เน้นให้ตัวนักกีฬาและกีฬาชนิดต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางในการวางแผน รวมทั้งพยายามหาแนวทางให้การเตรียมงาน และการจัดงานมีความเรียบง่ายมากขึ้นตามที่ต้องการ ในส่วนแผนระยะยาว ได้มีการกำหนดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่จะจัดในช่วงก่อนที่จะถึงการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2021

ทั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันและบอร์ดบริหารไอโอซี ต่างเห็นตรงกันว่า ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะกรรมการจัดการแข่งขัน, ไอโอซี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในกระบวนการขับเคลื่อนโอลิมปิก โดยเฉพาะสหพันธ์กีฬานานาชาติ คณะกรรมการโอลิมปิกประจำชาติของประเทศต่างๆ และพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงผู้ถ่ายทอดการแข่งขัน

ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเด็นการต่อต้านการเหยียดผิวนั้น ไอโอซี แสดงจุดยืนตามกฎบัตรโอลิมปิก ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีอิสระ เสรีภาพ ในการแสดงความคิด ตราบใดที่ไม่มีการแบ่งแยก เชื้อชาติ สีผิว เพศ ความหลากหลายทางเพศ ศาสนา การเมือง ชาติกำเนิด เนื่องจากกีฬาโอลิมปิก เป็นการแข่งขันที่มีผู้คนจากหลายเชื้อชาติมาแข่งขันร่วมกัน ดังนั้นทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ยกตัวอย่าง การพักในหมู่บ้านนักกีฬา ในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทุกคนที่พักอยู่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา จะต้องให้การเคารพในความแตกต่างของกันและกัน

cr. ข่าวสด


แชร์ข่าวนี้