ป.ป.ช.เปิดทรัพย์สินตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พบ จรัญ มีกว่า 200 ล้าน ส่วนใหญ่ของภรรยา

202
แชร์ข่าวนี้

“ป.ป.ช.” เปิดทรัพย์สินตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พบ “จรัญ ภักดีธนากุล” มีทรัพย์สินกว่า 200 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นของภรรยา ฟาก “วิรุฬห์ แสงเทียน” มีทรัพย์สิน 19 ล้านบาท ส่วน “จิรนิติ หะวานนท์” มีร้อยกว่าล้าน ไร้หนี้สิน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นตำแหน่งรวมทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบด้วย

กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 มี 2 รายคือ

1.​ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายได้รวมกับของภรรยา 13,398,142 บาท มีรายจ่ายรวม 5,246,860 บาท ทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้น 206,133,234 บาท เป็นของนายจรัญ 11,635,704 บาท รายได้หลักจากเงินลงทุนในหุ้นระยะยาวธนาคารไทยพาณิชย์และตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนคู่สมรสมีทรัพย์สิน 194 ล้านกว่าบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินถึง 156 ล้านบาท

มีหนี้สิน 22,112,033 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นของคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 184 ล้านกว่าบาท

2.​ นายนุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีรายได้รวม 3.2 ล้านบาท รายจ่าย 1.5 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวม 32.3 ล้านบาท เป็นของนายนุรักษ์ 10 กว่าล้านบาท เป็นของคู่สมรสราว 21 ล้านบาท มีหนี้สินของนายนุรักษ์ ราว 345,000 บาท 

มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 31 ล้านบาทเศษ

กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 จำนวน 3 ราย คือ 

1. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทรัพย์สินรวมกับคู่สมรส 19 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก มีหนี้สิน 88,000 บาทเศษ ซึ่งเป็นเงินเบิกเกินบัญชีของนายวิรุฬห์ ราว 74,000 บาท 

2. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทรัพย์สินร่วมกับคู่สมรส ราว 24 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 3 แสนกว่าบาท

3. นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทรัพย์สินรวมกับคู่สมรส 114 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินกว่ารวมมูลค่ากว่า 75 ล้านบาท โดยไม่มีหนี้สิน

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. – 11 ก.ค. 2563 ที่ห้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. และผู้สนใจยังสามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.nacc.go.th

อย่างไรก็ตาม สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งในครั้งนี้นั้น ถือเป็นครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้