“จอร์จ โฟร์แมน” : แชมป์โลกเฮฟวี่เวตที่ใช้วิชามวยสร้างธุรกิจเตาย่างพันล้าน

190
แชร์ข่าวนี้

นักมวย คืออาชีพที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง ต่อให้จะเคยเก่งกาจโด่งดังขนาดไหนในวันที่ยังขึ้นชกอยู่ ทว่าเมื่อถึงวันที่พ่ายแพ้ต่อกายสังขารจนต้องแขวนนวม (ส่วนใหญ่) พวกเขามักจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมากกว่าเดิม.. โดยเฉพาะนักมวยยุคเก่าๆ ที่ว่ากันว่าชีวิตนี้ “ชกคนเป็นอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม จอร์จ โฟร์แมน นักชกหมัดโคตรหนักฮีโร่แห่งรุ่นเฮฟวี่เวตยุค 80’s นั้นมีอะไรที่แตกต่างและใช้ชีวิตแบบมีชั้นเชิงเกินกว่าจะตกม้าตายเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ

เขาใช้ความชอบเปลี่ยนเป็นอาชีพหลังลาเวที และรู้ตัวอีกทีเขาก็มานั่งขายเตาย่างเบอร์เกอร์ด้วยเทคนิคที่เขาเรียนรู้จากการชกมวย ที่ช่วยให้เขาทำเงินจากธุรกิจมากมายจนนับเงินแทบไม่หวาดไม่ไหว

ทั้งในสนามการต่อสู้และสนามธุรกิจ โฟร์แมน พิชิตหมดเกลี้ยง อะไรคือเคล็ดลับของ “แชมป์โลกตลอดชีวิต”.. ติดตามได้ที่นี่

สมองคิด จิตจดจ่อ 

ชีวิตในวงการมวยของ โฟร์แมน นั้นถือว่าเป็นนักชกที่แตกต่างจากขนบนักมวยคนอื่นๆ ตั้งแต่แรก เขามีครอบครัวตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นและยังคงรัก ดูแลภรรยาและลูกๆ ของเขามาจนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญที่สุด เขาเป็นคนที่มีสมาธิและรักในสิ่งที่ตัวเองทำเป็นอย่างมาก โฟร์แมน ฟิตซ้อมร่างกายไม่เคยตก แม้จะไม่มีคำพูดโอหังข่มขวัญคู่ชกอย่าง มูฮัมหมัด อาลี แต่ โฟร์แมน เป็นพวกเสือซุ่ม เขาจะอยู่หลังจากฉากที่แสนจะวุ่นวาย แต่เมื่อเขาปรากฎตัวบนเวทีทุกคนต่างก็รู้ดีว่าหากวัดกันเรื่องหมัดหนักเพียวๆ ไม่มีใครที่สามารถเอาชนะ “บิ๊กจอร์จ” ได้เลย 

1

สไตล์ของ โฟร์แมน สมัยพีกๆ จึงออกมาในรูปแบบของนักชกหมัดพลังช้างสาร ที่มั่นใจในหมัดของตัวเองอย่างที่สุด หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ คือการจัดอันดับของนิตยสาร The Ring ยังยกให้เขาเป็นเบอร์ 1 เรื่องหมัดหนักเหนือกว่า ไมค์ ไทสัน เสียอีกด้วยซ้ำ 

แม้เขาจะช้าและเป็นนักมวยที่ได้ชื่อว่าการ์ดหลวม แต่ด้วยหมัดเด็ดที่เขามี โฟร์แมน จึงเลือกใช้วิธีที่ “ซื้อความเสี่ยง” นั่นคือการเดินหน้าทิ่มคู่ชกให้ร่วง แม้เขาจะโดนสวนมาบ้าง แต่หมัดเดียวของเขาแค่เฉี่ยวๆ ก็สามารถทำให้คู่ชกโดนนับ 10 ได้สบาย 

ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่ จอร์จ โฟร์แมน จะต้องเพลย์เซฟ มีแต่คู่ชกของเขานั่นแหละที่จะสูญเสียความมั่นใจไม่กล้าแลกหมัดกันตรงๆ … แม้แต่ มูฮัมหมัด อาลี ยังต้องใช้แท็คติกยั่วยุ โฟร์แมน ด้วยคำพูด ไซโคตั้งแต่ก่อนขึ้นชก และ อาศัยความเร็วหลอกให้ โฟร์แมน ปล่อยหมัดจนหมดแรง อีกทั้ง อาลี ยังยอมรับว่ามีการหย่อนเชือกเพื่อให้เขาสามารถเด้งเชือกหลบ โฟร์แมน ได้ง่ายขึ้น จนตัวของ อาลี ได้รับชัยชนะในไฟต์ประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า “The Rumble in the Jungle” ซึ่งจัดขึ้นในประเทศ ซาอีร์ (ดีอาร์ คองโก ในปัจจุบัน) อันโด่งดังเมื่อปี 1974 

2

นั่นคือไม่กี่ครั้งที่ โฟร์แมน ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (ตลอดการชกอาชีพแพ้เพียง 5 ไฟต์) ซึ่งโดยปกติแล้ว เขาเป็นนักชกที่มีสมาธิจิตจดจ่อ ทำอะไรทำจริงจัง เรียกได้ว่า “จิตสังหาร” หรือ “สัญชาตญาณความกระหาย” ของเขา รุนแรงมาก ว่ากันว่าในการชกแต่ละครั้ง โฟร์แมน นั้นเริ่มข่มขวัญคู่แข่งตั้งแต่เดินขึ้นเวทีแล้ว … หากเจอคนที่จิตใจไม่แข็งพอรับรองสมาธิกระเจิงได้ง่ายๆ 

ร่างกายใหญ่โต กล้ามเนื้อต้นแขนระดับเกินคน ปรากฎเมื่อเข้าเดินเข้ามุมและถอดเสื้อคลุมเตรียมชก สีหน้าที่ไร้ซึ่งรอยยิ้มและดวงตาที่จ้องเขม็งไปยังคู่ชก เพื่อเป็นสัญญาณบอกว่านี่ไม่ใช่การชกกัน แต่เขาจะตั้งใจจะเอาให้ตาย … นั่นคือจิตวิญญาณของผู้ชนะที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โฟร์แมน เล่าว่าเขาฝึกแม้กระทั่งการข่มขวัญคู่ต่อสู้เลยด้วยซ้ำ

“ผมลอกเลียนแบบมาจาก ซอนนี่ ลิสตัน (อดีตแชมป์โลกรุ่นพี่ที่ โฟร์แมน เคารพ) ผมเห็นวิธีการมองคู่ชกของเขา มันทำให้คู่ชกกลัวจับใจ เขาจะจ้องทะลุดวงตาเข้าไปถึงดวงจิต ไม่มีคำพูดแม้แต่คำเดียว” โฟร์แมน กล่าวถึงจิตสังหารแห่งผู้ชนะของเขา 

จะเห็นได้ว่า โฟร์แมน มีทักษะการวางแผนที่ชัดเจน รู้จุดแข็งของตัวเองและนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เมื่อร่างกายใหญ่ยักษ์ เขาจึงใช้มันเพื่อข่มขวัญ เมื่อสายตาดุดัน เขาจะใช้มันกดประสาท และเมื่อเขามีหมัดที่เขามั่นใจ เขาไม่จำเป็นต้องหลบใคร เขาพร้อมจะเสี่ยง เพราะทุกความเสี่ยงนำมาซึ่งชัยชนะและความสำเร็จ.. นั่นล่ะคือคนอย่างโฟร์แมน

คนธรรมดาที่เข้าใจโลก 

เมื่อถอดนวม โฟร์แมน เป็นคนอย่างไร?.. เรื่องนี้หลายคนอาจจะไม่รู้ คิดว่าแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่อย่างเขาเป็นพวกชอบได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนปกติ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อไม่ได้อยู่ในฐานะนักมวย โฟร์แมน ไม่ได้มีกลยุทธ์ในการปรากฎตัวผ่านสื่อมากมายอะไรนัก เขาเลือกที่จะเป็นคนธรรมดา ขับรถเองไปตามที่ต่างๆ หากหิวก็จอดรถลงมาซื้อของกินข้างถนน เมื่อรู้สึกผมยาวก็ไปร้านตัดผมแบบคนทั่วไป ไม่มีช่างส่วนตัวค่าจ้างหลักหมื่นหลักแสน ที่ไหนก็ได้ … สุดท้ายก็ออกมาเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่เขาเป็น

3

“ผมมีประตู 2 บานสำหรับชีวิตนี้ ประตูบานแรกคือผมเป็นคนดังอย่างที่ใครหลายคนเห็นแล้วเข้าใจ แต่ประตูอีกบานคือชีวิตที่แสนธรรมดา ซึ่งผมได้เรียนรู้และรักประตูบานนี้มากกว่า ผมชอบเพราะมันทำให้ผมรู้ว่าผมเป็นใคร” 

“นอกจากเป็นนักมวย ผมมีอาชีพเป็นผู้สอนด้านศาสนา ผมทำงานตามมุมถนน บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ผมสามารถไปตัดผมที่ไหนก็ได้ โดยที่ไม่มีใครจำได้ ผมสามารถเป็นตัวของตัวเอง ไปร้านขายของชำยืนดูของที่อยากจะซื้อต่อราคากับพ่อค้าแม่ขาย ชีวิตแบบนี้แหละที่ผมรักมันจริงๆ” โฟร์แมน เล่าอีกมุมของเขา 

สายตาที่พร้อมฆ่าคู่ชกทุกคนเปลี่ยนไปเป็นคนละแบบ เมื่อเขาถอดนวมเขาจะกลายเป็นลุงจอร์จผู้ใจดีและมีแต่รอยยิ้ม กิจกรรมที่ โฟร์แมน มักจะทำกับครอบครัวเป็นประจำคือการทำปาร์ตี้บาร์บีคิวหรือเบอร์เกอร์ ซึ่งนั่นคือความสุขง่ายๆ ที่เขาไม่ต้องออกไปเที่ยวหาที่ไหน โจแอน โฟร์แมน ภรรยาของ จอร์จ ยังเคยเล่าผ่านสื่อว่า สามี ของเธอเป็น “เบอร์เกอร์ เลิฟเวอร์” นั่นคือชอบทุกอย่างที่เป็นของย่างโดยเฉพาะ เบอร์เกอร์ นั้นคือสิ่งที่ โฟร์แมน “อิน” กับมันพอๆ กับการชกมวยเลยด้วยซ้ำไป 

เขาไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นการกินแต่เบอร์เกอร์ และผักสลัด ทำให้ โฟร์แมน มีอาชีพที่น่าทึ่ง เรื่องราวระดับตำนานที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินของเขา เกิดขึ้นในปี 1994 ณ เวลานั้นเขาอายุ 45 ปี ซึ่งตามหลักน่าจะเลิกชกมวยไปแล้วหากเทียบกับนักชกคนอื่นๆ แต่ โฟร์แมน ไม่เลิก.. เท่านั้นยังไม่พอเขายังกลับมาคว้าแชมป์โลกด้วยการเอาชนะน็อก ไมเคิล มูเรอร์ จนสามารถทวงเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตของ WBA เส้นเดียวกับที่เขาเคยเสียให้กับ อาลี เมื่อ 20 ปีก่อนไปได้อย่างเหลือเชื่อ

4

การเห็นคนอายุ 45 ปี คว้าแชมป์โลกเฮฟวี่เวต คือสิ่งที่โลกไม่ได้ประสบพบเจอบ่อยๆ ดังนั้นทุกคนจึงสงสัยเป็นอย่างมากว่าในวัยขนาดนี้ โฟร์แมน รักษาสภาพร่างกายตัวเองได้อย่างไร? 

โฟร์แมน เริ่มตอบคำถามเหมือนนักกีฬาอาชีพทั่วไป ขยันฝึกซ้อม เพิ่มจุดแข็ง ลดจุดอ่อน อะไรแบบนั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือประโยคที่เขาบอกส่งท้ายว่า “ใช้ชีวิตให้มีความสุข ดูแลตัวเองดีๆ กินอาหารที่มีประโยชน์” ประโยคธรรมดาๆ ประโยคนี้แหละที่ดันไปเข้าหูใครบ้างคนเข้า.. และใครคนนั้นก็ปิ๊งไอเดียบางอย่างขึ้นมา ซึ่งไอเดียนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมี จอร์จ โฟร์แมน เข้ามาร่วมด้วย

รัสเซลล์ ฮ็อบส์ และเตาย่างรุ่น จอร์จ โฟร์แมน… 

“กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ.. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ.. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ..” 

เสียงของ จอร์จ โฟร์แมน ดังเป็นเอ็คโค่เข้าไปในโสตประสาทของ รัสเซลล์ ฮ็อบส์ นักธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องทำความร้อนอย่างกาต้มน้ำชา และเขาก็ปิ๊งอะไรขึ้นมาทันที

5

เดิมทีนั้น ฮ็อบส์ มีแผนที่จะทำเตาย่างอาหารขึ้นมาเป็นสินค้าในบริษัทของเขา แต่ ฮ็อบส์ ก็ยังไม่กล้าวางขายสินค้าที่เขาทำออกมา เพราะเชื่อว่าการจะขายได้นั้นจำเป็นต้องมีพรีเซนเตอร์ที่ผู้บริโภคเห็นแล้วร้องอ๋อ พร้อมทั้งไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่าถ้าซื้อไปแล้วจะทำอาหารได้อร่อยจริงๆ 

สาเหตุที่การวางขายล่าช้าเกิดขึ้นเพราะ ฮ็อบส์ หวังจะให้ ฮัลค์ โฮแกน นักมวยปล้ำเบอร์ 1 ณ เวลานั้นเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทว่า โฮแกน นั้นติดต่อยากเสียยิ่งกว่าอะไร ต้องพึ่งพาเอเจนซี่มากมายจนเขาไม่สามารถเข้าถึงและหาเวลามานั่งคุยธุรกิจอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อโฟร์แมนลั่นวาจาว่า “กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพไง ถึงได้เป็นแชมป์โลกในวัย 45 ปี” ฮ็อบส์ จึงตบเข่าฉาด เลิกง้อ โฮแกน และติดต่อมายัง โฟร์แมน นักมวยที่ตรงกับคอนเซ็ปต์ของสินค้ามากกว่าเยอะ คนอายุเยอะที่ยังชอบกินของปิ้งย่าง แต่ต้องเป็นการปิ้งย่างที่ได้คุณภาพ และที่สำคัญผู้บริโภคจะอินได้ง่ายๆ เพราะ โฟร์แมน นั้นถือเป็น เบอร์เกอร์ เลิฟเวอร์ ตัวจริง … กินจริง ชอบจริงแบบนี้  ฮ็อบส์ จึงติดต่อไปยัง โฟร์แมน เพื่อให้เป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ ของเตาย่างที่มีชื่อยี่ห้อว่า “Salton” ทันที 

โฟร์แมน ได้พบกับตัวแทนเตาย่างยี่ห้อนี้ และคุยกันเบื้องต้นถึงลักษณะเด่นของสินค้าที่สามารถเอาน้ำมันออกจากวัตถุดิบได้มาก (เมื่อยุค 90’s) อารมณ์ประมาณหม้อทอดไร้น้ำมันที่กำลังฮ็อตฮิตในเวลานี้นั่นแหละ แต่ขนาดของเตาย่างของ Salton ยี่ห้อง จอร์จ โฟร์แมน กริลล์ นั้นมีขนาดใหญ่มากซึ่งก็เป็นตามยุคตามสมัย 

แต่ โฟร์แมน คิดว่ามันเทอะทะเกินไป เขาไม่ชอบอะไรแบบนี้ คิดว่ามันเจ๋งสู้เตาตัวเล็กๆ ที่เขาใช้ประจำไม่ได้ และไม่อยากจะวุ่นวายกับเรื่องค้าๆ ขายๆ มากนัก เพราะ ณ เวลานั้นเขายังเป็นนักมวยอาชีพอยู่  และเขายังแอบกลัวลึกๆ ว่าบริษัทจะเอาชื่อเขาไปหากินด้วยการขายของที่ไม่มีคุณภาพ   

“ประเทศนี้ไม่ได้มีทรัพยากรอย่างก๊าซและน้ำมัน แต่สิ่งที่เรามีคือความซื่อสัตย์ ผมต้องการค้นหาคำตอบและถามตัวเองเสมอว่าผมจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ผมเกี่ยวข้องมีความน่าเชื่อถือได้บ้าง” โฟร์แมน ว่าถึงแนวคิดของเขา

6

แต่ตัวแทนของเตาย่าง Salton ยังไม่ยอมแพ้ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในตอนนั้น แต่ก่อนกลับ เขาฝากเตาย่างไว้ที่บ้านโฟร์แมน 1 ตัว …

ผ่านไป 6 เดือน โฟร์แมน ไม่เคยใช้เตาย่างนั้นเลย จน โจแอน ภรรยาของเขาเกิดความรำคาญมาก “ไม่ทำก็ไม่ต้องทำ เดี๋ยวฉันทำเอง” ว่าแล้วเธอก็ลงครัวทำกินเองซะให้จบเรื่องจบราว … ถ้าไม่ดีก็ทิ้งไป ไม่ต้องเอาไว้เกะกะบ้าน

“ฉันบอกเขาเองว่า ฉันจะทำมันด้วยตัวเองแล้วนะ” เธอให้สัมภาษณ์กับ CNBC ถึงเรื่องคราวนั้น ซึ่งเธอก็ทำอาหารออกมาจานหนึ่งก่อนจะชิมแล้วมีรสชาติดีเกินคาด ปานตะโกนออกมาว่า “อื้มมม อาโหร่ยยย” 

“ย่างแล้วออกมาดีมากอย่างเหลือเชื่อ เตานี้ย่างง่ายมาก เหมาะกับครอบครัว เพราะบ้านของเรามีเด็กๆ และฉันก็แค่โยนอาหารลงไปในเตา จากนั้นมันก็เรียบร้อย ทุกอย่างออกมาดีมากโดยเฉพาะแซนวิชชีสที่เด็กๆ ชอบกินเป็นพิเศษ” โจแอน เล่าย้อนความไป 

ก็แค่ แซนวิชชีส.. โฟร์แมน คิดแบบนั้น แต่ภรรยาของเธอโดนเตาย่างนี้ตกเข้าให้เต็มๆ เธอจึงบิ้วสามีเต็มที่ว่าของมันดีจริงๆ รับเป็นพรีเซนเตอร์เสียเถอะ และสุดท้ายจบลงด้วยการย่างเบอร์เกอร์ของโปรดของ โฟร์แมน ลงบนเตาอันใหม่ที่ตั้งทิ้งไว้ 6 เดือนนี้

“โคตรอร่อยเลย ไขมันทุกอย่างหล่นไปจากตะแกรงจนหายเกลี้ยง เนื้อก็อร่อยขึ้น ผมกินมันเข้าไปจนหมดจาน จากนั้นผมกดโทรศัพท์หาคู่ค้าของผมบอกว่า ‘เอาสัญญามาด่วนๆ เลยไอ้น้อง เดี๋ยวพี่จะเซ็นตอบรับเดี๋ยวนี้แหละ'”

เวทีมวยหรือเวทีธุรกิจล้วนเสี่ยงไม่ต่างกัน 

สัญญาที่ โฟร์แมน ได้จากบริษัทคือ เขาจะไม่ได้เงินก้อนใหญ่แบบที่วางตูมเดียวให้เขาเอาไปใช้สอยได้สะดวก เพราะทางบริษัทก็ยังหวั่นเรื่องความคุ้มค่า และเปลี่ยนข้อเสนอจากเงินค่าจ้างกลายเป็นส่วนแบ่ง 45% จากยอดขายทั้งหมดแทน  

7

โฟร์แมน รู้อย่างนั้นยิ่งดีใจเข้าไปใหญ่ เขาอ่านเกมออกตั้งแต่ได้กินเบอร์เกอร์ชิ้นนั้น เขามั่นใจว่าต่อให้ไม่ได้เงินจนกว่าจะของจะขายออก ยังไงการเซ็นสัญญาครั้งนี้ก็คุ้มแน่ เพราะสุดท้ายแล้วเตาย่างรุ่น จอร์จ โฟร์แมน จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และข้อเสนอที่หักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายทั้งหมด จะกลายเป็นขุมทรัพย์ของเขา … 

เหมือนกับชีวิตบนสังเวียนมวยไม่มีผิด.. จะตั้งรับไปทำไมเมื่อพลังหมัดของเขาหนักกว่าใครๆ ส่วนในสนามธุรกิจนั้น จะกลัวไม่ได้เงินก้อนไปทำไมในเมื่อเตาย่างนี้เฉียบขาดที่สุดเท่าที่ตลาดเตาย่างมี 

โฟร์แมน ไม่รับเงินก้อนแรกและกลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของเตาย่างยี่ห้อนี้แต่โดยดี ภาพของเขาที่ยิ้มแป้น ยืนใส่ผ้ากันเปื้อนถือที่คีบเนื้อ พร้อมกวักมือชวนคนมาซื้อ กลายเป็นภาพที่เชิญชวนให้คอเบอร์เกอร์ทั่วอเมริกาเกิดความอินกับเตาย่างชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี  เรียกได้ว่าเตาย่างชนิดนี้เอาชนะใจเหล่านักกินตัวจริงเรื่องปิ้งย่างตั้งแต่แรกเห็น เปรียบได้กับตอนชกมวยที่เขาทำหน้าเคร่งขรึมข่มคู่ชกด้วยจิตสังหารจนแทบจะเอาชนะตั้งแต่ระฆังยังไม่ดัง … แบบเดียวกันเลย

โฟร์แมน ปล่อยให้ยอดขายดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจเรื่องของตัวเลขนัก เพราะเขายังต้องโฟกัสเรื่องการชกมวยอยู่ (โฟร์แมนชกจนอายุ 48 ปี) ซึ่งเหตุผลที่เขาชกต่อไปนั้นอาจจะเพื่อหาเงินรอ ส่วนแบ่งจากเตาย่างไปก่อนก็ได้ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น.. ถึงเขาจะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย แต่เขาก็วางแผนหนึ่ง แผนสอง เอาไว้ตลอด เพื่อเอาไว้รับมือยามที่อะไรๆ ไม่เป็นอย่างใจ 

ในปี 1997 โฟร์แมน ในวัย 48 ปี ขึ้นชกกับ แชนนอน บริกกส์ ซึ่งในไฟต์นั้นทุกคนเชื่อว่าเขาจะเอาชนะได้สบายๆ แต่สุดท้ายเขาเดินกลับเข้าห้องล็อคเกอร์ด้วยความพ่ายแพ้ ขณะที่ตัวของเขาเองรู้สึกว่า “ไม่ไหวแล้ว” ด้วยวัยขนาดนี้กับการชกระดับโลกที่ไม่มีที่ว่างให้กับคนที่พร้อม 

8

โฟร์แมน เดินเข้ามาในล็อคเกอร์แบบเซ็งๆ จนกระทั่งทนายของเขาเดินเข้ามาบอกข่าวดีพร้อมเช็คเงินสดจำนวนหนึ่ง

“1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้คือส่วนแบ่งงวดแรกจากเตาย่างของคุณครับ” ทนายของเขาว่าแบบนั้น … ซึ่งมันทำให้ โฟร์แมน ที่กำลังเซ็งๆ กับชีวิตนักมวยที่กำลังใกล้มาถึงจุดจบเกิดความหวังใหม่อีกครั้ง เขาตื่นเต้นเหมือนกับเด็กที่ได้ของเล่นเมื่อรู้ว่าเขาเอาชนะการเดินพันในการวางความเสี่ยงครั้งนี้

“ไฟต์นั้นผมแพ้เละ แต่มันเป็นวันที่ผมมีความสุขที่สุดเลยในชีวิตด้านธุรกิจของผม” โฟร์แมน เล่าเหตุการณ์ในวันนั้น และทันทีที่รับเช็ค เขาตัดสินใจว่าจะเลิกชกมวยเด็ดขาด เพราะเขาสามารถหาเงินจากวิธีอื่นที่ไม่ต้องเจ็บตัวได้แล้ว

“ผมแพ้ในไฟต์สุดท้ายของการเป็นนักมวย แต่ผมได้รับเงิน 1 ล้านจากการขายเตาย่าง เช็คเงินสดนั้นทำให้ผมเริ่มอาชีพนักธุรกิจเต็มตัว” โฟร์แมน กล่าว 

เลิกคือเลิกเลย.. โฟร์แมน เลิกชกมวยจริงๆ และเริ่มหันหน้าเข้าสู่ธุรกิจการทำเตาย่างแบบเต็มตัว เช็คใบนั้นเป็นเหมือนใบผ่านทางสู่โลกใบใหม่ ส่วนแบ่งจากยอดขายเตาย่างไหลเทเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว ผ่านไปเพียง 1 ปี เตาย่างรุ่นแรกของเขาถูกขายไปแล้วกว่า 1 ร้อยล้านตัว ว่ากันว่าตัวของ โฟร์แมน ได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋าเดือนละ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนเลยทีเดียว 

แค่นี้ก็เป็นเสือนอนกินแล้ว แต่ โฟร์แมน กลับไม่หยุดง่ายๆ ไอเดียในการทำธุรกิจของเขาพุ่งพล่านไม่มีหยุด เขาได้เงินมา เขาก็เอาทุนไปหมุนต่อและเก็บกำไรไว้ ด้วยการเอาไปเปิดบริษัทที่ชื่อว่า “George Foreman Enterprises” และสร้างเตาย่างของเขาขึ้นมาเอง ทั้งแปลกใหม่และหลากหลาย ย่างได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง แบบไร้ควันก็ยังมี นอกจากนี้ยังเรียนรู้ไม่หยุด จนขยายไปทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม, ร้านอาหารแบบแฟรนไชส์ จนกระทั่งสุดท้าย ณ ช่วงเวลาที่คุณอ่านบทความอยู่นี้ โฟร์แมน มีทรัพย์สินโดยรวมกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ … เป็นรองแค่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ คนเดียว (700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขามาได้ไกลในโลกธุรกิจขนาดนี้ โฟร์แมน ก็เล่าว่าในมุมมองของเขาว่าไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ … อย่าหยิ่งยะโสคิดว่าตัวเองเก่ง สำคัญที่สุดคือไม่มีการใดสำเร็จได้หากเกิดจากการลงมือทำโดยปราศจากความรู้ 

9

“ความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมในฐานะนักธุรกิจเหรอ? ผมเชื่อว่าไม่มีข้อเสนอไหนที่ดีไปมากกว่าข้อเสนอที่คุณรู้สึกว่าคุณรักและมีความสุขกับมัน”

“สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับ จอร์จ โฟร์แมน กริลล์ คือมันออกมายอดเยี่ยม ย้อนกลับไปในวันแรก มีใครหลายคนบอกว่ามันจะขายไม่ได้ด้วยซ้ำ”

“ไม่ว่าจะในเวทีผ้าใบหรือเวทีธุรกิจ สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีคือความกล้าที่จะเสี่ยง และสำคัญที่สุดคือเมื่อคุณเสี่ยงแล้ว คุณต้องตั้งใจทำมันออกมาให้ดีจนกว่ามันจะเสร็จลุล่วงถึงขั้นตอนสุดท้าย” 

“ผมไม่เคยก้าวถอยหลัง.. ผมสู้มาตลอด ไม่ว่าจะสมัยเป็นนักมวยหรือหลังจากปี 1997 ที่ผมลาเวที ผมหวังเสมอว่าผมจะสนุกกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก ผมเตือนตัวเองเป็นประจำ มนุษย์เอ๋ย นี่คือเส้นทางชีวิต เพลิดเพลินกับเส้นทางของชีวิตเสียเถอะ” จอร์จ โฟร์แมน ในฐานะเศรษฐีพันล้านกล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้