สว.เดือด! ซัดม็อบ ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เนื้อหารุนแรง หวั่นซ้ำรอย 6 ตุลา

228
แชร์ข่าวนี้

สว. เดือด ม็อบ ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซัดเนื้อหารุนแรง หวั่นชุมนุมบานปลาย ซ้ำรอย 6 ตุลา กระทบเศรษฐกิจประเทศลงสู่หุบเหวหายนะ จี้สภาหาทางออก

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกหารือ โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. หารือว่า รู้สึกอึดอัด คับข้องใจ และเชื่อว่าประชาชนก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน หลังจากติดตามข่าวการชุมนุมทางการเมือง 3 ครั้งในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 9 ส.ค. ที่จังหวัดเชียงใหม่

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า และล่าสุดวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และยิ่งอึดอัดยิ่งขึ้นเมื่อทราบว่าในตอนจบมีการประกาศชุมนุมในลักษณะเดียวกันในวันที่ 12ส.ค. ที่สวนลุมพินี ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะถึงวันชุมนุมที่กำหนดไว้ วันที่ 16 ส.ค.

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่ไม่มีคนไทยคนไหนเรียกร้องในการชุมนุมสาธารณะ เพราะเลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล เกินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และชวนให้คิดได้ว่าการไม่ยอมรับเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอแต่เพียงยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้นเป้าหมายสูงสุดคืออะไร สรุปคือเกินขอบเขตการต่อสู้ทางการเมืองตามปกติที่คนไทยเคยเห็น

นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนั้น การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่บางช่วงนำประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนานด้วยความเคารพศรัทธาสูงสุดของคนทั้งประเทศมาล้อเลียนบนเวที และยังเป็นการร่วมกระทำการของผู้ต้องหา 2 คน ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมา อันมีลักษณะเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว และยังมีการไลฟ์สดของผู้ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ที่เป็นฮีโร่ของเยาวชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยกล่าวในอดีตทำนองว่าประเทศนี้ต้องลงเอยด้วยความรุนแรงและสงครามกลางเมือง

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เช้าวันนี้ (11ส.ค.) มีคำถามมากมายว่า เราจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือ ซึ่งตนทราบว่าเรื่องนี้เป็นความยากลำบากในการบริหารจัดการของรัฐบาล การใช้กฎหมายเคร่งครัดสถานเดียวและการใช้การเมืองก็เข้าทางเขา ดังนั้นต้องใช้กฎหมายและมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไป แต่ทราบความยากในการบริหารจัดการของรัฐบาล

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า จึงขอหารือผ่านประธานวุฒิสภาไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ตัวช่วยตามระบบการเมืองที่มีอยู่ดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไป โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความเห็นข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็ว แม้สมาชิกของทั้ง 2 สภาจะมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันในหลายกรณี

“เชื่อว่าทั้ง 2 สภา มีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไป ทำให้ข้อเรียกร้องปกติของประชาชนส่วนใหญ่ต้องถูกทำให้เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดชนวนความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อันจะสร้างแผลลึกส่งต่อลูกหลานต่อไป โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะซ้ำเติมประเทศไทยจมดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ หากแก้ไขไม่ทัน ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐสภาควรเป็นเวทีที่หาทางออกให้บ้านเมืองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า 6 ตุลา ภาค 2 ขึ้นมาในเร็ว ๆ นี้ และหากถึงวันนั้นรัฐสภาและรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ ก็แก้ไม่ได้” นายคำนูณ กล่าว

cr. ข่าวสด


แชร์ข่าวนี้