โควิด-19 เปลี่ยนวิถีการใช้แอพพลิเคชันของชาวอเมริกัน

194
แชร์ข่าวนี้

ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัย University of Chicago Harris School of Public Policy ร่วมกับ The Associated Press-NORC Center for Public Affairs Research พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคอเมริกันในการพึ่งพาแอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารและการสั่งอาหารมาส่งที่บ้านเปลี่ยนไปหลังการระบาดของโควิด-19 และสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของผู้คนในประเทศ

ผลโพลล์ชี้ว่า 63% ของชาวอเมริกันในการสำรวจ ไม่ได้ใช้แอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารไม่ประจำทาง อย่าง Lyft และ Uber มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันชาวอเมริกันเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารตามบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชาวอเมริกันที่มีรายได้สูง หรือราว 100,000 ดอลลาร์ต่อปี

54% ของชาวอเมริกัน รู้สึกไม่สบายใจที่จะใช้แอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารไม่ประจำทางช่วงโควิดระบาด คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับชาวอเมริกันที่ไม่อยากโดยสารรถแท็กซี เครื่องบิน หรือการขนส่งที่ต้องใช้พาหนะร่วมกับผู้อื่นช่วงโควิดระบาด แต่เลือกจะขับรถส่วนตัวไปไหนมาไหนเองมากกว่า

อีกด้านหนึ่ง ชาวอเมริกันจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจในการใช้แอพพลิเคชันจัดส่งอาหารตามบ้านช่วงโคโรนาไวรัสระบาด โดยชาวอเมริกันราว 6 ใน 10 ในการสำรวจ รู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะไปรับอาหารที่สั่งตรงจากร้านด้วยตัวเอง เทียบกับ 3 ใน 10 คนในการสำรวจที่พอใจจะใช้แอพฯจัดส่งอาหารถึงบ้าน ส่วน 3 ใน 10 คนในการสำรวจรู้สึกไม่สบายใจในการใช้แอพฯเหล่านี้

การปรับเปลี่ยนวิถีของผู้บริโภค กระทบต่อรายได้ไตรมาส 2 ของบริษัทแอพพลิเคชันเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดย Lyft และ Uber สูญเสียรายได้จากบริการเรียกรถโดยสารรวมกันราว 2,200 ล้านดอลลาร์ จากยอดเรียกรถที่ลดลงของ Uber และ Lyft ราว 73% และ 75% ตามลำดับ

แต่อีกด้านหนึ่ง รายได้จัดส่งอาหารของ Uber หรือ Uber Eats ปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนแอพฯจัดส่งอาหารตามบ้าน Grubhub มียอดจัดส่งอาหารพุ่ง 32% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่แลกมากับการทุ่มงบในการช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและดูแลความปลอดภัยของคนขับรถส่งอาหารของบริษัท

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :www.voathai.com

แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้