“ปรีดี” พร้อมกู้เงินถ้าจำเป็น ชู 3 ยุทธศาสตร์ดัน “จีดีพี” ปี 2564 ขยายตัว 4-5%

194
แชร์ข่าวนี้

“ปรีดี” ฟันธงเศรษฐกิจประเทศไทย ก้าวผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว พร้อมก้าวผ่านจุดต่ำสุดไปเมื่อไตรมาส 2 ย้ำจีดีพีปีหน้า จะขยายตัว 4–5% เปิด 3 ยุทธศาสตร์ ผ่าทางตันโควิด–19 เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ผงาดเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค เน้นใช้งบประมาณแบบสมดุล แต่พร้อมกู้ถ้าจำเป็น

นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อประเทศไทยสามารถ ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ระดับหนึ่งแล้ว รัฐบาลจะต้องมองไปข้างหน้า และประเมินสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง ในการรับมือกับโควิด-19 อาจระบาดรอบที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงอยู่ เพราะไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเมื่อใดวัคซีน จะสามารถนำออกมาใช้ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงที่มองไม่เห็น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางเพื่อสร้างเกราะกำบัง ไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม ที่มีความเปราะบางและเอสเอ็มอี รวมทั้งต้องสร้างงานให้ภาคเอกชน และต้องมียุทธศาสตร์สร้างงานสำหรับคนที่จบใหม่ ขณะที่ภาครัฐก็จะต้องมีความโปร่งใส และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของรัฐบาล มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน นโยบายบริการสาธารณะ

“ความท้าทายในการทำงานของผม แม้ว่าบรรยากาศยังไม่เป็นใจมากนัก แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยก็ยังแข็งแกร่ง ทั้งแนวรบภายนอกและภายใน ทำให้ไทยมีภาวะเศรษฐกิจที่ทนทาน แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาสที่ผ่านมา ไม่หดตัวมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน โดยอัตราการเติบโตของไทย ติดลบ 12.2% สิงคโปร์ ติดลบ 13.2% มาเลเซีย ติดลบ 17.1% จึงเชื่อว่าประเทศไทย ได้ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจกำลังเริ่มจะพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าจะขยายตัว 4-5%”

สำหรับ การรับมือกับภาวะชะลอตัว อันเนื่องมาจากโควิด-19 ประเทศไทยได้ออกนโยบายที่เน้นการบรรเทาและกระตุ้นการเติบโตเป็น 3 ช่วง ใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 12% ของ จีดีพี เพื่อประคับประคองครัวเรือนและธุรกิจ ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นำมาอุดหนุนโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข, โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เพื่อการสร้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในระดับชุมชน และยังมีเม็ดเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย 900,000 ล้านบาท เพื่อทำให้ตลาดการเงิน มีสภาพคล่องเพียงพอ

ขณะที่ ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นเป้าหมายแห่งการลงทุนต่อไปในระยะยาว ประกอบด้วย 1. การประสานนโยบายและการตอบสนองที่รวดเร็ว โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้น เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย ศบศ.จะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดูแลนโยบายและกิจกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ ได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐต่างๆ และกับภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2 การสนับสนุนการลงทุนระยะยาว เพื่อผลักดันอนาคตของอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงการคลังก็ได้เน้นการใช้จ่ายด้านการลงทุน ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ และได้ส่งเสริมความร่วมมือของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยไม่ทำให้เกิดภาวะตึงตัว ด้านการเงินในงบ ประมาณเช่น โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และแผนแม่บทการลงทุนโครงข่ายการคมนาคม เพราะมีความสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานรัฐบาล ได้จัดสรรเงิน 400,000 ล้านบาท ให้กับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

3 การดำเนินงานด้านความยั่งยืน ด้านการเงิน เพื่อรับมือกับโควิด -19 ที่ทำให้งบประมาณที่จะใช้จ่ายมีข้อจำกัด จึงต้องใช้จ่ายอย่าง มีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลัง ก็จะให้ความสำคัญ เรื่องความสมดุลระหว่างการใช้จ่ายและรายได้ เพราะในขณะนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ต่ำกว่า 60% แม้ ว่ามีการรับรู้การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในทางบัญชีแล้วก็ตาม

“เรามีข้อกำจัดด้านงบประมาณ แต่ก็สามารถใช้กลยุทธ์ การกู้ยืมภาครัฐมาเป็นทางออกได้ เราอาจต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเมื่อจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การมีมาตรการเศรษฐกิจ โดยไม่สละซึ่งวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อที่จะทำเช่นนั้น ก็จะต้องทำให้แน่ใจว่ามาตรการต่างๆ สามารถส่งผ่านไปยังโครงการที่มีประสิทธิภาพและเป็นโครงการที่ต้องการให้เกิดขึ้น อย่างแท้จริง เพื่อส่งความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มบุคคล ที่เป็นเป้าหมายได้อย่างแท้จริง”

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้