โรงงานหน้ากาก “ซีพี” คืบหน้า 80% พร้อมผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือนแจกฟรี

222
แชร์ข่าวนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ได้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 หลังจาก ที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อแจกฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทย ใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ ภายใต้คอนเซปต์ “เร็วแต่มีคุณภาพ”

ล่าสุด ซีพีได้นำเข้าเครื่องจักรในการผลิตหน้ากาก ถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โรงงานหน้ากากอนามัยขณะนี้มีความพร้อมแล้ว 80% ทั้งนี้ การนำเข้าเครื่องจักรของกลุ่มซีพีเป็นเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหน้ากากได้เครื่องละ 50,000 ชิ้นต่อวัน

โดยซีพีได้นำเข้าเครื่องจักรเครื่องแรกมาถึงประเทศไทย โดยสายการบิน YG 9021 ที่ขนส่งสินค้ามาจากสนามบินจากประเทศจีน และเครื่องจักรเครื่องที่ 2 คาดว่าจะพร้อมในการนำเข้าในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ซึ่งอาจต้องตรวจสอบเที่ยวบินอีกครั้ง เพราะสนามบินมีความเข้มงวด และมีมาตรการที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยกำลังการผลิตของโรงงานซีพีดังกล่าว หลังติดตั้งเครื่องจักรทั้ง 2 เครื่องแล้วเสร็จ อยู่ที่ 100,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซีพีได้เร่งสร้างโรงงานแห่งนี้ พร้อมห้องปลอดเชื้อโรค ล่าสุดเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับผลิตหน้ากากอนามัย ได้ถูกนำออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ และเดินทางไปยังโรงงาน เพื่อประกอบและทดสอบในขั้นตอนถัดไป โดยจะใช้กระบวนการเทเลคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการติดตั้ง และปรับแต่งเครื่องจักรต่อไป โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ ซีพีพิจารณาแล้วว่า เนื่องจากในช่วงเวลานี้แต่ละประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดของ มาตรการเข้าออกประเทศ ทำให้กระบวนการนำเข้า มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ซีพีต้องปรับแผนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยขนส่งเครื่องจักร จากเมืองสู่เมือง จากรถบรรทุก สู่เครื่องบิน ผ่านหลายเมือง ในที่สุดความพยายามก็ทำได้สำเร็จ จนสามารถนำเครื่องจักรเข้ามาได้ เพื่อติดตั้งแล้วเสร็จ ตรงตามวัตถุประสงค์

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการผลิต ที่เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าสายงาน ด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตของโรงงานหน้ากากอนามัยแห่งนี้ กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำภารกิจเพื่อชาติ เพราะท่านประธานธนินท์ได้กำชับว่าต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด และที่สำคัญต้องมีคุณภาพ ตนจึงต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน จนกว่าโรงงานแห่งนี้จะแล้วเสร็จ


แชร์ข่าวนี้