ศาล รธน. วินิจฉัย “พิธา-พรรคก้าวไกล” เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

433
แชร์ข่าวนี้

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

เวลา 14.00น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง

ศาลรัฐธรรมนูญ แถลงคำวินิจฉัยว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง ระบุว่า เมื่อ 25 มี.ค. 2564 ผู้ถูกร้อง และ สส.ของพรรคก้าวไกล รวม 44 คน  เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ถูกร้อง ยังมีการจัดกิจกรรมทางการเมือง และการแสดงออกทางออนไลน์ หลายต่อหลายครั้ง ในเรื่องของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ประเด็นที่ต้องพิจารณามีอยู่ว่า พฤติกรรมของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

ศาลเห็นว่า การที่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นระบบ ระเบียบ เรียบร้อย ต้องมีกฎหมายบังคับใช้ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้ กระบวนการตรากฎหมาย ต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้การเสนอนร่างกฎหมาย จะเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจโดยชอบ แต่เมื่อผ่านร่างกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจในการตรวจสอบว่า กฎหมายใดๆ นั้น มันเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ การเสนอกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นการกระทำที่สามารถตรวจสอบได้ ว่าเป็นความพยายามล้มล้างการปกครองหรือไม่

คำว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครอง ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และคำว่า อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐ ว่า ประเทศปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์

ประมวลกฎหมาย มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่มีไว้เพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ การที่ผู้ถูกร้อง เสนอร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ซึ่งอยู่ในลักษณะความผิดต่อความมั่นคงรัฐ ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งความมั่นคงต่อราชอาณาจักร และคุ้มครองไว้ซึ่งพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหาษัตริย์ ย่อมถือเป็นความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

การเสนอแก้ให้ ความผิดตามมาตรา 112 ให้ออกจากความผิดต่อความมั่นคงต่อประเทศ มีเจตนามุ่งหมาย จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ และความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ

การที่ผู้ถูกร้อง เสนอให้ ม.112 เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยเสนอว่าความผิดหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยให้ความผิดต่อพระเกียรติฯ ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ แสดงให้เห็นเจตนาว่าความผิดนี้ เป็นความเสียหายส่วนพระองค์ของสถาบัน เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันฯ ไม่ใช่ความเสียหายของรัฐ และมุ่งให้สถาบันกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การกระทำความผิดตาม ม.112 เป็นความผิดที่กระทบจิตใจต่อประชาชนชาวไทย

ดังนั้น แม้การแก้ไข ม.112 จะเป็นหน้าที่ตามอำนาจนิติบัญญัติ ของรัฐสภา และไม่ได้บรรจุลงในวาระการประชุมของรัฐสภาก็ตาม แต่เมื่อการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อสภา โดยสมาชิก สส.ของพรรคผู้ถูกร้องทั้งหมด และยังคงนำเสนอเป็นนโยบายในการหาเสียง เพื่อแก้มาตรา 112 และยังปรากฏนโยบายดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ของพรรค เป็นโนยบายหาเสียงเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน

ถือได้ว่า ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 และนำเสนอนโยบายดังกล่าวในการหาเสียง รณรงค์หาเสียงทางการเมือง เพื่อนำเสนอแนวคิดดังกล่าว เผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป หากประชาชนไม่รู้เจตนาที่แท้จริง อาจหลงไปตามคำรณรงค์ของพรรคผู้ถูกร้องได้

จึงถือว่า ผู้ถูกร้อง มีเจตนาการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม อ่อนแอลง นำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้