เปิดจดหมายตอบ “เจ้าสัวธนินท์” แนะออกพันธบัตร 3 ล้านล้านกู้วิกฤติโควิด-19

228
แชร์ข่าวนี้

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้ตอบจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ขอความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำให้ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

โดยมีข้อเสนอว่า แม้วันนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในความมืด แต่เรายังต้องคิดบวกว่ามีมืดต้องมีแสงสว่าง และเชื่อมั่นว่าเราใกล้จะสว่างแล้ว รัฐบาลจึงควรมองไปข้างหน้าจะรอให้โควิด-19 หมดไปก่อนแล้วค่อยเริ่มทำจะสายเกินไป โดยการทำธุรกิจและใช้ชีวิตยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็ว และหากไม่เร่งปรับตัวให้ทัน ธุรกิจขนาดใหญ่จะล้มได้

“ได้ประมาณการมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อวันจากมาตรการล็อกดาวน์ อยู่ที่วันละ 18,670 ล้านบาท หรือ 500,000 ล้านบาทต่อเดือน เราใช้มาตรการล็อกดาวน์ 2 เดือนความเสียหายอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่านายกรัฐมนตรีจัดการได้ดี เมื่อตัวเลขพุ่งสูงก็ต้องปิด และเห็นด้วยว่าการเปิดเมืองใหม่ควรเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องดำเนินการเพื่อลดความเสียหายของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หยุดคนตกงาน หยุดการล้มละลายของเศรษฐกิจ เพราะตึกใหญ่ๆ ถ้าปล่อยให้ระเบิดทำลายใช้เวลาไม่กี่นาที แต่การจะสร้างใหม่ต้องใช้เวลาหลายปี”

จัด “ทัวร์หนีตาย” ดึงเศรษฐีทั่วโลกเข้าไทย

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ และควรเริ่มโปรโมตตั้งแต่ตอนนี้ โดยเมื่อเรามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีบุคลากรการแพทย์ที่ดีเยี่ยมในการรับมือโควิด-19 เพราะจริงๆ ถ้าดูจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาบ้านเรา ประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด รัฐบาลจึงควรจะนำเสนอโฆษณาจุดแข็งของไทยไปตามสื่อทั่วโลก เพราะเวลานี้เศรษฐีในจีนอยู่บ้านมานานอยากท่องเที่ยว เศรษฐีในสหรัฐฯ ยุโรป ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดสูงมากอยากออกนอกประเทศ และไทยเป็นที่ที่เขาอยากมา รัฐบาลควรคลายกฎเกณฑ์เพื่อให้ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม การให้เข้ามาต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ โดยให้บริษัททัวร์ติดต่อกับโรงแรม 5 ดาวในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ จัดเป็น “ทัวร์หนีตาย” พาเศรษฐีเหล่านี้มาอยู่ที่โรงแรม มีแพทย์ไปตรวจการติดเชื้อว่าไม่ได้เป็นโควิด-19 หลังจากนั้นให้มาเที่ยวที่บ้านเราโดยกักตัว 14 วันในโรงแรม 5 ดาวบ้านเรา ซึ่งเปิดให้เขาเจอกันสังสรรค์กันได้ เพราะเราตรวจแล้วว่าไม่เป็นโรค และเมื่อครบ 14 วันให้พาไปเที่ยวในที่ที่รัฐจัดเตรียมให้ เชื่อว่าเศรษฐีเหล่านี้อยากมาบ้านเรา เพราะมีความสะดวกสบาย และเขาพร้อมจะอยู่ยาว ใช้เงินจำนวนมาก เพราะประเทศเราปลอดภัยมากกว่า มีการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า

แนะรัฐกู้เงิน 3 ล้านล้านรักษาจ้างงาน

ทั้งนี้ จุดที่กังวลที่สุดได้ผ่านมาแล้ว คือ ช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด รัฐบาลประกาศปิดเมือง และมีคนแห่ออกไปต่างจังหวัดจำนวนมาก ช่วงนั้นคิดว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามทั่วประเทศ แต่ก็ผ่านมาได้ เวลานี้การทยอยเปิดเมืองเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุด และหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยจะมีแนวทางรักษา และควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยไม่ต้องกลับไปปิดเมืองอีกครั้ง ที่สำคัญจะต้องรักษาแรงงานและภาคธุรกิจไว้ไม่ให้ล้มละลาย โดยเสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตรอายุ 10 ปีกู้เงินเพิ่มอีก 3 ล้านล้านบาท เพื่อให้เอกชนกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ โดยให้กู้ยาว 10 ปีเพื่อให้มีเวลากู้ธุรกิจคืน และเงินอีกส่วนรัฐบาลช่วยจ่ายค่าแรงให้ 70% เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อให้เอกชนรักษาการจ้างงานไว้ได้ นอกจากนั้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ เสนอให้เปิดให้คนเก่ง คนที่มีความสามารถ คนที่เชี่ยวชาญในธุรกิจต่างๆในต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย 5 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เรามีทรัพยากรบุคคล มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และยังจะเข้ามาสอนให้คนไทยเก่งขึ้นด้วย อย่าไปกลัวคนเก่ง หรือคิดว่าจะมาแย่งงานคนไทย เพราะเมื่อมีคนเก่งเข้ามาจะช่วยสร้างงาน สร้างการใช้จ่ายและจ่ายภาษีให้ประเทศเพิ่มขึ้น

“3 ประโยชน์ 4 ประสาน” พลิกวิกฤติ การเกษตร

ส่วนโครงการที่ซีพีเสนอให้กับรัฐบาลที่สามารถเริ่มทำได้ทันทีคือ โครงการเกษตรผสมผสาน 4.0 โดยมีโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนอง-หว้า จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้แนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ ภายใต้แนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” เป็นความร่วมมือ 4 ฝ่ายรัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร ก่อให้เกิด ประโยชน์ 3 ประการ คือ ประเทศ ประชาชน และองค์กร โดยซีพีกำลังอยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ 2-3 จังหวัดทำเป็นโมเดลต้นแบบ

ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวเกษตรกรจะเป็นเจ้าของที่ดิน มีซีพีเป็นพี่เลี้ยงทั้งหมด ตั้งแต่เป็นตลาดรับซื้อ ค้ำประกันวงเงินกู้ของเกษตรกรกับธนาคาร และหากขาดทุนซีพีจะเป็นฝ่ายรับให้เอง ซึ่งจากความสำเร็จของโครงการหนองหว้าพบว่าเกษตรกรในโครงการ 50 ครัวเรือน ชำระคืนเงินกู้ได้หมดภายใน 10 ปี ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งหมด มีที่ดิน 24 ไร่เป็นของตัวเอง จากไม่มีอาชีพสามารถเลี้ยงสุกรได้อย่างช่ำชอง และกลายเป็นเกษตรกรที่มีฐานะ

ขณะที่ยังพร้อมเดินหน้าโครงการปลูกน้ำ เพื่อพัฒนาระบบชลประทานเป็นแก้มลิง 4.0 แก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยซีพีกำลังสำรวจพื้นที่บ่อเก็บน้ำและพื้นที่ลุ่มทั่วประเทศ เพื่อหาทำเลทำโครงการนำร่อง 3-4 แห่ง เบื้องต้น
บ่อที่ขุดจะมีความลึก 10 เมตรไว้ดักน้ำฝน กักเก็บไว้ขายยามหน้าแล้ง เลี้ยงปลา ส่วนดินที่ขุดออกมานำไปขาย ถมพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อทำการเกษตร หรือพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว “ทั้ง 2 โครงการเริ่มเดินหน้าแล้วแม้รัฐบาลจะยังไม่ได้ตอบรับจดหมายที่ส่งไป โดยโครงการเกษตรผสมผสานจะได้เห็นภายในปีนี้ ส่วนโครงการน้ำเป็นโครงการใหม่ที่ซีพีไม่เคยทำมาก่อน อาจต้องใช้เวลานานกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐบาล”

ปิดเซเว่นซึมทำดีลิเวอรีหนุนรายได้

นายธนินท์ยังกล่าวถึงผลกระทบต่อการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลซึ่งทำให้ร้าน 7/11 ของซีพีต้องปิดก่อน 22.00 น.ว่า ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน แม้ยอดขายตอนกลางคืนจะไม่สูงนัก แต่เป็นช่วงเวลาที่ทางร้านใช้ในการบริหารจัดการสต๊อก ขนส่งสินค้า ซึ่งต้นทุนจะต่ำกว่าเมื่อทำตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม ร้าน 7/11 เป็นธุรกิจสเกลใหญ่ สายป่านยาว สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้บริการส่งสินค้าถึงบ้าน (ดีลิเวอรี) ที่ต้องรับพนักงานเพิ่มอีกทั่วประเทศ 20,000 คน (สาขาละ 2 คน) ทำให้รายได้กระเตื้องขึ้นหลังจากที่ถูกปิดร้านเร็ว “เสียดายที่ทำช้าไปหน่อย ความจริงต้องทำตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่ผู้บริหารไม่ได้เห็นความสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ขายดีอยู่แล้ว”

ขณะที่แผนขยายร้าน 7/11 ยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิม เนื่องจากสาขาที่เพิ่มขึ้นช่วยให้บริหารจัดการต้นทุนได้คุ้มค่า (Economy of Scale) ยิ่งขึ้น และยังตอบโจทย์บริการส่งสินค้าถึงบ้านฟรีในรัศมีใกล้ๆด้วย

ต่อข้อถามที่ว่าซีพีนั้นทำโครงการช่วยเหลือประเทศไทยมากมายแต่กลับถูกโจมตีเสมอ นายธนินท์กล่าวว่า สมัยตนเริ่มทำธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว สัญญาที่ทำกับเกษตรกรมีไม่ถึง 1 แผ่น แต่ภายหลังมีคนพูดเข้าหูมากว่า สัญญาของซีพีเอาเปรียบเกษตรกร รวมทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยพูดให้ฟังและบอกให้ช่วยลงไปตรวจสอบหน่อย ซึ่งก็พบว่า เป็นสัญญาที่ซับซ้อนและไม่เป็นธรรมจริง จากนั้นได้สั่งให้แก้ไขทั้งหมดและเหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่เคยเกิดขึ้นอีก โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำสัญญากับซีพีประมาณ 5,000 ราย เชื่อว่าทุกคนมีความพึงพอใจ หากไม่เชื่อขอให้ลองไปสอบถามดู

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้