เมืองการบินไม่แพง-คุ้มค่า เปิดแผนอู้ฟู่คืนทุนใน 15 ปี

208
แชร์ข่าวนี้

กลุ่มหมอเสริฐ-บีทีเอส-ซิโนไทยลั่นกลองรบ พร้อมตะลุยเมืองการบิน เริ่มแน่เฟสแรกปลายปี 64 เสร็จปี 67 ลั่นไม่หวั่นโรคระบาด เพราะกว่าจะสร้างเสร็จโควิดก็จบไปแล้ว “คีรี” ย้ำไม่แพง คุ้มค่า ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นตัวเลข 2 หลักแน่นอน คืนทุนภายใน 15–17 ปี วางแผนระดมทุนทุกรูปแบบรวมทั้งเข้าตลาดหุ้น โชว์โมเดลสร้างรายได้ 3 กลุ่มธุรกิจอู้ฟู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด นำโดย นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ, นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ รวมทั้งนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ได้ร่วมแถลงข่าวการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังคว้าชัยชนะจากการประมูลโครงการดังกล่าวภายใต้เงินลงทุนรวมกันราว 290,000 ล้านบาท ส่งมอบผลประโยชน์ด้านการเงินให้แก่รัฐ 305,555 ล้านบาท ภาษีอากร 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี

โดยนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนลในสัดส่วน 45% เปิดเผยว่าบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี และเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารสนามบินในประเทศ 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินที่ใช้ในการลงทุนโครงการ นอกจากเงินกู้สถาบันการเงินแล้ว การระดมทุนรูปแบบอื่นในอนาคตทั้งการนำบริษัทร่วมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ก็อยู่ในแผน ส่วนความกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าวิกฤติโควิดจะส่งผลกระทบต่อโครงการหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการดำเนินการต้องใช้เวลานาน ถึงเวลานั้นโควิดอาจจบไปแล้ว

ขณะที่นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่า จะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) โครงการนี้เป็นตัวเลข 2 หลัก และจะใช้เวลาคืนทุนภายใน 15-17 ปี โดยตามแผนจะแบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 4 เฟส คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกได้ช่วงปลายปี 64 และแล้วเสร็จในปี 67 ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารพื้นที่ 157,000 ตรม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

โดยคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 5-6 ล้านคน หากมีผู้โดยสารประมาณ 75-80% ของความสามารถในการรองรับผู้โดยสารทั้งหมด จะเริ่มดำเนินการในเฟสที่ 2 ที่คาดว่าเสร็จปี 73 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 3 เสร็จราว ปี 85 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี และเฟส 4 หรือระยะสุดท้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 98 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

เหตุผลจำเป็นที่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีสนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 เพราะ 2 สนามบินที่มีอยู่ไม่เพียงพอจากการสำรวจของหน่วยงานการบินนานาชาติ พบว่ากรุงเทพฯจะมีคนเดินทางเข้าออกเพิ่มขึ้นมากติดอันดับท็อป 10 ของโลก และภายในปี 2030 จะมีคนเดินทางเข้าออกประเทศไทย 200 ล้านคน ขณะที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 160 ล้านคน ส่วนต่างอีก 40 ล้านคนจำเป็นต้องมาใช้สนามบินอู่ตะเภา นายอนวัช กล่าวว่า โมเดลธุรกิจในโครงการนี้ ไม่ได้มีเพียงการลงทุนสนามบินนานาชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน แต่มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้อีก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ

1. Airport City หรือเมืองการบิน บนพื้นที่ 654 ไร่ ที่จะประกอบด้วย business and innovation park, ศูนย์แสดงสินค้า, ศูนย์กลางการแพทย์ (Medical hub) และ office area ที่ตั้งสำนักงานออฟฟิศของบริษัทต่างๆ โรงเรียน รวมทั้งที่พักอาศัย

2.cargo และ logistics park บนพื้นที่ 262 ไร่ ซึ่งจะเป็นศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้าขนาดใหญ่ บนพื้นที่ free trade zone ปลอดภาษีอากรซึ่งจะเป็นประตูสำคัญ สำหรับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม-แฟชั่นและการเกษตร เป็นการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศ

3.Commercial Gateway หรือพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ บนพื้นที่ 269 ไร่ ที่จะประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ช็อปปิ้ง มอลล์, ร้านค้าดิวตี้ ฟรี, โรงแรม ห้องประชุมและ luxury outlet สินค้าแบรนด์แนม

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 35% กล่าวยืนยันว่า การเข้ามาลงทุนครั้งนี้ ตัดสินใจไม่ผิด แม้เสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงกว่า 300,000 ล้านบาท เพราะเมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 3.25% แล้ว จะพบว่ารัฐจะต้องได้ผลตอบแทนใน 50 ปีของอายุสัมปทานกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นเงิน 300,000 ล้านบาทจึงถือว่าไม่ได้สูง และยังได้เป็นหนึ่งหน้าในประวัติศาสตร์ของสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย

“กลุ่มบีทีเอสมั่นใจ 100% ที่จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาระบบภายในสนามบินให้ทันสมัย และได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน และจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการ เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป้าหมายก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินหรือ Aviation Hub ของอีอีซี”

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้