พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ นำ ผบ.เหล่าทัพ ยกแผง แถลงยืนยันไม่คิดทำรัฐประหาร

200
แชร์ข่าวนี้

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ ร่วมประชุมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ทั้งหมด พร้อมนำแถลงยืนยันทหารไม่คิดทำรัฐประหาร ส่วนการดูแลการชุมนุมทางการเมืองนั้น เชื่อว่าตำรวจสามารถดูแลได้

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายแก่เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยึดถือกรอบแนวทางตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงกลาโหม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมยึดหลัก “กองทัพไทยพิทักษ์รักษา ปกป้อง เทิดทูนพระมหากษัตริย์องค์จอมทัพไทย และน้อมนำแนวทางพระราชทานมาดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน”

โดยมีการดำเนินงานใน 6 ด้าน ได้แก่

  1. การพิทักษ์รักษา ปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ตลอดจนดำเนินการตามแนวทางพระราชทาน “สืบสาน รักษาต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  2. การป้องกันประเทศ มีขีดความสามารถและความพร้อมในการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของชาติในทุกมิติ ตลอดจนการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพอย่างเป็นปึกแผ่น โดยมุ่งสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
  3. การรักษาความมั่นคงของรัฐ สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ รวมทั้งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศโดยยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนภายใต้นโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ”
  4. การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน มิตรประเทศ นานาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่างสมดุล ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวม
  5. การพัฒนาประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และช่วยเหลือประชาชน ในการดูแลสร้างโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ยากลำบากและทุรกันดารให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างพอเพียง เพื่อพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศต่อไป และ
  6. การบริหารจัดการกองทัพ ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม ยึดมั่นตามสายการบังคับบัญชาเพื่อความเป็นปึกแผ่นของกองทัพไทย และดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ใช้แนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และหลักธรรมาภิบาล ให้เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน

กำชับกำลังพลปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโควิด-19

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า การจัดส่งกำลังทหารไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ในสาธารณรัฐซูดานใต้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกองทัพไทย อันเป็นไปตามพันธกรณีที่มีต่อสหประชาชาตินั้น กองทัพไทยได้กำหนดมาตรการป้องกันและให้ความรู้แก่กำลังพลทุกนายให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด

รวมทั้งให้เพิ่มความเข้มงวดในด้านมาตรการสุขอนามัยในการป้องกันตนเอง หากต้องปฏิบัติงานนอกค่าย เช่น ต้องสวมใส่ Mask ตลอดเวลาขณะปฏิบัติงานนอกพื้นที่ จัดระบบพื้นที่กันชนเพื่อมิให้ประชาชนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (Face Shield และ Mask) อย่างเพียงพอ

ส่วนการส่งกำลังพลของกองทัพบกไปร่วมการประเมินผลการฝึก ณ ศูนย์การเตรียมความพร้อมร่วม (Joint Readiness Training Center : JRTC) Fort Polk รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 189 นาย นั้น เป็นไปตามพันธกรณีกับกองทัพมิตรประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกำลังพลเป็นรายบุคคลและเป็นหน่วย โดยมาตรการก่อน ระหว่าง และหลังการฝึกนั้น กองทัพไทยได้ดำเนินการอย่างรัดกุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาระยะห่างการสัมผัสระหว่างบุคคล และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงมาตรการเฝ้าระวัง และเฝ้าสังเกตอาการระหว่างการฝึกอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทัพบกสหรัฐฯ ก็มีความตระหนักเช่นเดียวกับฝ่ายไทย โดยกำหนดให้กำลังพลสหรัฐฯ ทุกนายต้องผ่านการกักกันโรคก่อนการฝึกและผ่านการตรวจเชื้อผลเป็นลบก่อนการฝึก 72 ชั่วโมง และวางมาตรการระหว่างการฝึกที่เป็นไปตามมาตรฐานทางสาธารณสุข

ดังนั้น ขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจว่า กำลังพลที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติภารกิจทุกนายมีความพร้อมทั้งด้านสมรรถภาพร่างกายและมีมาตรฐานในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างรอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติและกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ

ยืนยันประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

พล.อ.เฉลิมพล ยังกล่าวถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและประเทศชาติ เพราะกำลังทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศ ปกป้องรัฐ ประมุขของรัฐ พร้อมย้ำว่ามาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ซึ่งข้าราชการทหารก็มีขวัญกำลังใจ และปลาบปลื้มในการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนบทบาทกองทัพกับการเมืองนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่หมาด กล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศตามที่ได้รับมอบตามกฎหมาย ซึ่งทหารก็เป็นกลไกของรัฐบาล ทหารก็เป็นกลไกในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่จะเกี่ยวข้องกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร โดยไม่ต้องมีใครสั่ง เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

ไม่คอมเมนต์บทบาท ส.ว. ของ ผบ.เหล่าทัพ

นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมพล กล่าวถึงบทบาท ส.ว. ของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้มีการคัดเลือก ส.ว. ที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาดูแล คงแค่เป็นห้วงเวลาหนึ่งตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ เมื่อเข้าไปเป็น ส.ว. ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น ส่วนเรื่องการรับเงินเดือนนั้น ก็แล้วแต่บุคคลว่าจะพิจารณาตามความเหมาะสมในการปฎิบัติหน้าที่นั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเอกสิทธิเฉพาะตัวที่จะพิจารณา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้หารือร่วมกันแล้วจะไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพจะประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นรายบุคคลต่อไป เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล

ยืนยันไม่คิดทำรัฐประหาร-โยนตำรวจคุมม็อบ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญ ว่า จะให้ความมั่นใจประชาชนได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร โดยยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแนวทางการดำเนินการอยู่แล้วตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เราปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทหารก็คือประชาชน ทุกอย่างเรามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นอย่างที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในสังคมโลก เพียงแต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนพลเมืองมีโอกาสเป็นพลังของแผ่นดิน มีสิทธิ และมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี ย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารในปัจจุบัน

ส่วนการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ เชื่อว่าตำรวจสามารถดูแลได้ ยังไม่ต้องถึงขั้นให้ทหารไปดูแลแต่อย่างใด

 

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้