“พระสงฆ์ยุค 5G” กับการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม

186
แชร์ข่าวนี้

ปัจจุบันนี้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าสื่อออนไลน์แทบจะแทรกซึมไปในผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะสังคมโซเชียลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ รวมไปถึงเว็บไซต์ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเข้าถึงเปรียบเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่เสมือนจริงสามารถเปิดเผยแสดงตัวตนได้อย่างอิสระ ไร้ขอบเขต ส่งผลให้หลายคนหลงใหลในเสน่ห์ความสุขของมัน จากการได้แสดงความคิดเห็นสื่อสารแบบสองทางโต้ตอบอย่างเสรีในกลุ่มคนวงกว้าง ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

สังคมออนไลน์เปรียบเหมือน “ดาบสองคม” ที่มีความหมายว่า การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอ ๆ กัน หากผู้ใช้สื่อในโลกออนไลน์หรือชาวโซเชียลนั้นได้เล่นสื่อต่าง ๆ แบบไม่ระมัดระวังการกระทำ คำพูด พาดพิง หรืออาจทำให้ต้นเองและผู้อื่นเสียหาย ล่าสุดเกิดกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ ถือเป็นกรณีตัวอย่างอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับชาวโซเชียลทั้งหลาย

จากกรณีพระมหาดาว TikTok ล่องเรือ ดำน้ำดูปะการัง เข้าลอดถ้ำมรกต ทำชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ และประพฤติตัวไม่เหมาะสม รวมไปจนถึงพระนักเทศน์ขวัญใจวัยโจ๋ กับเรื่องฉาวในโลกออนไลน์ ทั้งปมคลิปเสียงสนทนาเชิงชู้สาว ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลดังที่ผ่านมาเป็นที่ถูกจับตามอง หลังในโลกเชียลมีเดียมีการแชร์คลิปเสียงพร้อมกับข้อความในไลน์ระหว่างหญิงสาวรายหนึ่งกับพระภิกษุแอบมีเพศสัมพันธ์กันในรถยนต์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีในลักษณะนี้ ยังมีอีกหลายกรณีเกิดขึ้นในโลกโซเชียล

ศาสนาเสื่อมเพราะโซเชียลมีเดีย

โลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นความท้าทายต่อการใช้ชีวิตเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลก และเป็นโจทย์สำคัญทางศาสนา ในฐานะของที่พึ่งสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจที่สามารถเข้าถึงญาติโยมได้ง่ายและรวดเร็วด้วยเช่นกัน ชาวพุทธมีการปรับใจเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคนี้ ที่เราจะได้เห็นทั้งวัดออนไลน์ วัดบนเฟซบุ๊ก การทำบุญผ่านคิวอาร์โค้ด การสวดมนต์ไหว้พระผ่านไลฟ์โปรแกรม หรือแม้แต่การสนทนาธรรมผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ

ในการใช้โซเชียลมีเดียของพระนักเทศน์ทำให้ชาวพุทธได้ร่วมทำบุญ ฟังเทศน์ได้อย่างไร้พรมแดน เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต วัยรุ่นยุคดิจิทัลต่างให้ความสนใจปรับเปลี่ยนมุมมองการทำบุญในทางที่ดีขึ้นก็มีอยู่มาก วันนี้และเวลานี้ พุทธศาสนาในประเทศไทย กำลังเสื่อมถอย จะเห็นได้จากพฤติกรรมพระภิกษุที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยจากการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ผิด เทคโนโลยีได้เข้ามาลดช่องว่างระหว่างคนธรรมดากับพระมากขึ้นกว่าเดิม

หากเรามองลึกลงไปแล้วใช่ว่าโซเชียลมีเดียจะทำลายศาสนาแต่อย่างใด เหตุเพราะพระสงฆ์ในประเทศไทยก็มีทั้งดีและไม่ดี ไม่สามารถดับกิเลสในใจตนเองได้ ปล่อยให้สื่อโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือในการทำผิดศิลธรรม แทนที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนา กลับทำสิ่งที่เลวร้ายทำให้ชาวพุทธเสื่อมศรัทธาในศาสนาเข้าไปทุกที

ศาสนาเสื่อมหรือคนทำให้เสื่อม

จากข่าวที่กล่าวมาเบื้องต้น หลายคนคงมีคำถามในใจว่าทำไมเราถึงเห็นข่าวเกี่ยวกับพระเณรทำผิดพระวินัยต่าง ๆ ถูกจับสึก เป็นข่าวในโลกโซเชียลมีเดียที่นับวันยิ่งมีมากขึ้นทุกที แต่ทำไมเราถึงไม่ตั้งคำถามบ้างว่า แล้วพระที่ถูกจับสึกเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหนก่อนที่จะมาโกนหัวห่มจีวรขอบวชในพระพุทธศาสนาแล้วทำความเสื่อมเสียให้กับคณะสงฆ์ สร้างความเสื่อมเสียให้พระศาสนา พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป

คนไทยเรามักมีความเชื่อว่า อะไรที่ไม่ดีให้ส่งไปอยู่ในวัดเผื่อว่าจะได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น คนขี้ยา ขี้เมา ขี้เกียจ ขี้คุก หรือแม้แต่คนที่มักมากในกามารมณ์ มีจิตใจที่คิดไม่ดี ต่าง ๆ นานา เมื่อในวัดเต็มไปด้วยคนเหล่านี้เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า บุคคลเหล่านี้จะสามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดี คิดดี ทำดี ในแบบที่เราได้คาดหวังไว้ บางคนก็สามารถเอาธรรมะมาขัดเกลาเปลี่ยนชีวิตได้ แต่บางคนกลับยังเอานิสัยตนเมื่อครั้งเป็นฆราวาสมาใช้เหมือนเช่นเดิม คนพวกนี้แหละคือต้นเหตุของปัญหาและความเสื่อมศรัทธาต่อพระสงฆ์

พระใช้โซเชียลมีเดียเหมาะสมหรือไม่

เรื่องนี้คงต้องมองลงไปถึงเจตนาว่าใช้โซเชียลมีเดียทำอะไร ใช้เพื่ออะไร ถ้าใช้ในทางที่ดีเพื่อการเผยแพร่ศาสนาก็คงไม่ผิดอะไร ไม่เป็นบาปแต่กลับเป็นบุญเพราะได้นำธรรมะมาสอนคนผ่านสื่อเทคโนโลยี ที่คนสมัยใหม่มักไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะ หรือเข้าวัดเพื่อฟังธรรม การนำเสนอธรรมะผ่านโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ ก็ช่วยให้เข้าถึงญาติโยมที่ไม่มีเวลา นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือใช้แจ้งข่าวบุญ ร่วมบุญในกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ให้ญาติโยมได้ร่วมบุญ อนุโมทนาบุญร่วมกัน แต่ถ้าพระใช้ในทางที่ผิดเช่น ใช้ในทางลามกอนาจารก็เป็นกรรม และเป็นกรรมที่หนักด้วย

เราต้องจำไว้เสมอว่าทุกสิ่งบนโลกนี้มีสองด้านเสมอ โซเชียลมีเดียก็เช่นกันผู้ใช้ไม่ว่าผู้ใดก็ตามต้องมีสติและนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และไม่หลงมัวเมาจนลืมตัว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดาหากนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์และถูกวิธีการ จะยิ่งสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน


แชร์ข่าวนี้