เกษตรกรลุ้นต่อ รอรับ 3 หมื่น นอนแบงก์ประกาศไม่ยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์

241
แชร์ข่าวนี้

“อุตตม” ยันจ่ายเงินสดให้เกษตรกรแน่ๆ แต่ยังไม่เคาะ 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน สั่ง ธ.ก.ส.ทำรายละเอียดเพิ่มเติมมาเสนอก่อนสรุปอีกที เผยรัฐตั้งวงเงินไว้ 2 แสนล้านบาท ด้านคนกู้นอนแบงก์สบายใจได้อีกเปลาะ หลังผู้ประกอบการยันไม่มีนโยบายยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์ หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร ถึง 30,000 บาทต่อครัวเรือนหรือไม่ แต่แนวทางคือ จะจ่ายเงินสดให้เกษตรกรโดยตรง เหมือนในอดีตที่เคยจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง โดยจะนัดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ถ้าได้ข้อสรุปจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่การจ่ายเงินคงต้องรอเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ และเริ่มกู้เงินในเดือน พ.ค.63

“ในเบื้องต้นมีตัวเลขเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาประมาณ 9 ล้านครัวเรือน ซึ่งมาจากตัวเลขเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้อาจจะมีมาตรการอื่นๆ มาเสริมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การช่วยเหลือชาวนา เป็นต้น ส่วนในอนาคตหากต้องช่วยเหลือกลุ่มใดเพิ่มเติมก็จะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.นี้”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ต้องกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ

1.จำนวนครัวเรือนที่จะให้มีเท่าไหร่ จากเบื้องต้นมีตัวเลข 9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการลงทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.จะใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าจ่าย 15,000บาท เท่ากับอาชีพอิสระ 3 เดือน ต้องใช้งบประมาณถึง 135,000 ล้านบาท หรือถ้าจ่ายสูงกว่านี้งบประมาณจะต้องมากกว่านี้

3.จะจ่ายกี่ครั้ง ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

“ในการจ่ายเงินต้องดูว่าใช้เงินรวมเท่าไหร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของงบเยียวยา ซึ่งรวมวงเงินที่ต้องนำไปใช้ในด้านสาธารณสุขด้วย มีวงเงินรวม 600,000 ล้านบาท ถ้าเอาไปให้เกษตรกรมากจะต้องลดทอนงบอีกส่วนลง นอกจากนี้ ต้องดูไม่ซ้ำซ้อน เช่น เกษตรกรบางคน หรือครอบครัวเกษตรกร ได้รับเงินจากอาชีพอิสระไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่จะได้รับเงินจะต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น ชาวนา ชาวสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบัญชีอยู่กับ ธ.ก.ส.แล้ว ประมาณ 6-7 ล้านบัญชี”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า วงเงินเยียวยาเกษตรกรอาจจะไม่เท่ากับการเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนที่จ่ายให้กับกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เพราะเกษตรกรไม่ได้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้ตั้งวงเงินสำหรับเยียวยาภาคเกษตรไว้ไม่เกิน 200,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายตามจริงและตามความเหมาะสม ซึ่งวงเงินนี้อาจใช้ไม่เต็มวงเงินดังกล่าวก็เป็นได้

ส่วนกรณีที่ธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 80,000 ล้านบาทให้กับนอนแบงก์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อนำไปปล่อยต่อในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปีนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้พูดคุยกับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ได้แก่ สมาคมลีสซิ่งไทย จำนวน 33 บริษัท สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ชมรมบัตรเครดิต และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 6 เดือน ในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์

“ธุรกิจนอนแบงก์ยินดีที่จะดำเนินการพักเงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่มีนโยบายยึดรถยนต์และยึดมอเตอร์ไซค์ของลูกหนี้คนใด หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ให้กับธุรกิจนอนแบงก์ เพราะรายได้ของธุรกิจมาจากดอกเบี้ย ถ้ามีการพักหนี้และดอกเบี้ยตามมาตรการของรัฐบาลบริษัทจะไม่มีเงินรายได้เข้ามาเลยช่วงที่ช่วยเหลือลูกค้า”

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้เห็นชอบให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 80,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์ จากวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 150,000 ล้านบาท โดยจะให้ทางผู้ประกอบการนอนแบงก์เข้ามาใช้สินเชื่อในลักษณะเดียวกับธนาคารอื่นๆที่เข้ามาขอใช้ซอฟต์โลนกับธนาคารออมสิน

“สินเชื่อซอฟต์โลนที่ธนาคารออมสินจัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว จะมีการดึงกลับคืนมาเพื่อนำมาปล่อยให้กับนอนแบงก์แทน เนื่องจากเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 500,000ล้านบาท ที่ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี มีเงื่อนไขที่ดีกว่าธนาคารออมสินให้ เพราะมีการชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 60-70% หากกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ดังนั้น จึงจะให้ธนาคารพาณิชย์ไปใช้สินเชื่อของ ธปท.”

ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการพักหนี้และลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6เดือน สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต


แชร์ข่าวนี้