คนไข้สาวที่หมอลืม “หัวกรอฟัน” ไว้ในเหงือก 5 ปี จ่อฟ้องร้องหลังไม่มีใครรับผิดชอบ

281
แชร์ข่าวนี้

คนไข้ที่ทันตแพทย์ลืมหัวกรอฟันไว้ในเหงือกนานถึง 5 ปี จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต แม้ผ่าออกแล้วแต่อาการชาที่ปากยังไม่หาย ลิ้นรับรสยังผิดปกติ เตรียมฟ้องปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ

(17 ส.ค.63) นางกฤติกา อายุ 34 ปี เดินทางมาจากจังหวัดมุกดาหาร เพื่อเข้าพบทันตแพทย์  โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อติดตามอาการ หลังผ่านำหัวกรอที่ติดอยู่ในเหงือกนาน 5 ปี ออกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการเยียวยาจากโรงพยาบาล        

นางกฤติกา กล่าวว่า ตนเองได้เข้ารับการผ่าฟันคุดที่โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส  และเกิดเหตุลืมหัวกรอฟันในเหงือกของนางกฤติกา ไม่สามารถนำออกได้ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่เป็นไรหากแผลประสานกัน ชิ้นส่วนดังกล่าวจะหลุดไปเอง ต่อมาต้นปี 2562 นางกฤติกาไปรักษารากฟัน และเอกซเรย์พบว่าหัวกรอฟังยังติดอยู่ในเหงือก จนมีการอักเสบ และได้ผ่าหัวกรอฟันออกเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่โรงพยาบาลทันตกรรม  คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

แม้จะได้รับการผ่าเอาหัวกรอฟันออกแล้วอาการดีขึ้น แต่ไม่หายขาด เพราะจากที่มีอาการชาตั้งแต่กกหูขวาถึงริมฝีปาก ตอนนี้ชาเฉพาะริมฝีปาก,  ลิ้นชาแค่ปลายลิ้น แต่ลิ้นรับรสยังผิดปกติ, หูขวาตึง ผลจากการลืมหัวกรอฟันในเหงือกได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนมาก ที่ผ่านมาได้ขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้องเรียนไปทั้งที่  สคบ., สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กลับไม่มีหน่วยงานใดเยียวยา และกรณีของตนไม่เข้าเกณฑ์ มาตรา 41 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข เพราะตนใช้สิทธิ์สามีที่เป็นข้าราชการในการเบิกค่ารักษา  

ทั้งนี้หลายหน่วยงานได้แนะนำให้ตนฟ้องร้อง  ตนจึงเตรียมฟ้องปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกค่าเสียหาย พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๒๖ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาผู้บริโภค 2551 ในวันที่  27 สิงหาคม2563 นี้  ซึ่งที่ผ่ามาตนต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายช่วงที่ต้องพักรักษาตัวหาเงินไม่ได้  และเป็นค่าเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นเงินกว่า 2 แสนบาท 

สำหรับกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 หลังจากนางกฤติกา เข้ารับการผ่าฟันคุด ตรงฟันกรามด้านขวา ที่ รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยในวันผ่าตัดหมอทราบว่ามีชิ้นส่วนอุปกรณ์หล่นอยู่ในเหงือก แต่ไม่สามารถนำออกมาได้ และแจ้งนางกฤติกาว่า เมื่อแผลประสานชิ้นส่วนที่ติดอยู่จะหลุดออกมาเอง ไม่เป็นอันตราย แต่ผลจากการผ่าฟันคุดทำให้ริมฝีปากชาราว 6 เดือน – 2 ปี หลังผ่าฟันคุดนางกฤติกาไปพบหมอ 3 ครั้งในช่วง 2 เดือน เพื่อรักษาอาการปากชา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 สามีของนางกฤติยาซึ่งรับราชการตำรวจ ได้โยกย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานจึงไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง และทำใจกับอาการริมฝีปากชา ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และคิดว่าหัวกรอฟันได้หลุดออกมาแล้วตามที่หมอบอก

กระทั่งเดือนมกราคม 2562 ได้ไปรักษาฟันด้านซ้าย โดยหมอเอ็กซเรย์ พบว่า หัวกรอฟันยังคงติดอยู่ในเหงือกจนเหงือกบวมไปทับฟันกราม เกิดอาการปวดฟันรุนเเรง  จากนั้น ต้นเดือนเมษายน 2562 ทีมทันตแพทย์ รพ.ในอุบลราชธานี เตรียมผ่านำหัวกรอออก แต่อยู่ๆ นางกฤติกาได้รับแจ้งว่าผ่าไม่ได้ เพราะกระดูกหุ้มหัวกรอแล้ว ไม่คุ้มที่จะผ่า เพราะต้องเจาะ มีความยาก กรามจะชาหนักกว่าเดิม ทันตแพทย์จึงถอนฟันที่ถูกเหงือกบวมทับออก รักษาอาการปวดฟันรุนแรง และหลังถอนฟันซี่นี้ มีการอาการปวดรุนแรงมาก จนต้องฉีดมอร์ฟีน ซึ่งนางกฤติกา ระบุว่า เคยร้องขอความช่วยเหลือไปยังทันตแพทยสภา แต่ไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลือ และหาทางรักษาตัวเองมาตลอด จึงตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดมุกดาหาร มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามคำแนะนำของหลายๆ คนที่บอก 

จนกระทั่งเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา นางกฤติกา ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทันตแพทย์โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลา 30 นาที จึงผ่านำหัวกรอฟันออกจากเหงือกคนไข้ได้

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้