ประธานศาลฎีกาสั่งยุติสอบวินัย-อาญา “ผู้พิพากษาคณากร” หลังเสียชีวิต

238
แชร์ข่าวนี้

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณียุติการดำเนินการสอบสวนการรักษาวินัยผู้พิพากษา กรณีของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ช่วยราชการ กองผู้ช่วยในศาลอุทธรณ์ภาค 5 (ภาคเหนือ) ที่ จ.เชียงใหม่ ที่ใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง ครั้งแรกจนได้รับบาดเจ็บภายในห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.62 หลังเสร็จสิ้นการพิพากษายกฟ้องคดีฆาตกรรม ซึ่งระหว่างนั้นมีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก และช่วงเกิดเหตุแล้วมีเอกสารจำนวน 25 หน้าออกมาเผยแพร่อ้างเป็นแถลงการณ์ของนายคณากร แสดงความอึดอัดใจอ้างรู้สึกกดดันในการทำหน้าที่พิจารณาคดีจากผู้บังคับบัญชาต่อการตรวจสำนวนร่างคำพิพากษาว่า หลังจากเมื่อปลายปี 2562 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยหรือไม่แล้ว แต่เมื่อปรากฏเหตุในภายหลังที่ผู้พิพากษาคณากรได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค.63 ตนในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รายงานให้นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาทราบตามขั้นตอนกรณีข้าราชการตุลาการนั้น พ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 พร้อมเสนอการยุติสอบสวนเรื่องดังกล่าว

ซึ่งประธานศาลฎีกา พิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ยุติการสอบสวนกรณีผู้พิพากษาคณากร ส่วนคดีอาญา ที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้เคยขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีผู้พิพากษาคณากร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ2490 นั้น

เมื่อเสียชีวิต สิทธิการดำเนินคดีอาญาก็เป็นอันระงับ ยุติไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 39 (1)

ส่วนกรณีประเด็นข้อสงสัย เรื่องของการแทรกแซงในกระบวนการตรวจสำนวนร่างคำพิพากษาก่อนการพิพากษาคดีหรือไม่นั้น นายสราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังการตรวจสอบ ก.ต. มีมติเห็นว่าไม่มีมูล การกระทำในส่วนของอธิบดีผู้พากษาภาค 9 จึงไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบตรวจร่างคำพิพากษาของภาค ที่ควรพิจารณาว่าแนวทางวิธีการนั้นมีปัญหาต้องปรับหรือแก้จุดใดหรือไม่ จึงตั้งผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมหรือ ก.บ.ศ.(ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) รวม 3 คน เป็นคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาค โดยกระบวนการศึกษานั้นใกล้จะเสร็จสิ้นแล้วภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะสรุปผลเสนอ ก.ต.ได้ทันในการประชุม นัดวันที่ 7 เม.ย.นี้ หากมีความคืบหน้าในผลว่าเป็นอย่างไรแล้วก็จะเผยแพร่ให้ทราบต่อไป


แชร์ข่าวนี้