ฮึกเหิมส่งออกทั้งปีไม่ขี้เหร่ โควิด-19 ดันอาหารขายดี

238
แชร์ข่าวนี้

ส่งออกไทยเดือน มี.ค. พลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง มูลค่าทะลุ 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ สูงสุดรอบ 19 เดือน เพิ่ม 4.17% ขยายตัวสูงสุดรอบ 8 เดือน หลังผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งอาหารที่ยอดส่งออกพุ่งเพราะโควิด-19 และเงินบาทที่อ่อนค่าลง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือน มี.ค.2563 การส่งออกมีมูลค่า 22,404.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือน ก.ค.2561 ที่มีมูลค่าสูงสุดที่ 22,827.3 ล้านเหรียญฯ โดยมีการขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2562 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 693,352.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.21% ส่วนการนำเข้า มูลค่า 20,812.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7.25% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 653,096.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.32% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,592.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 40,256.1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อหักมูลค่าส่งออกของน้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง, ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยออก จะขยายตัว 2.12%

ขณะที่ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 62,672.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 0.91% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.903 ล้านล้านบาท ลดลง 2.98% นำเข้ามูลค่า 58,738.4 ล้านเหรียญฯ ลดลง 1.92% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.808 ล้านล้านบาท ลดลง 5.90% เกินดุลการค้ามูลค่า 3,933.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 94,465.9 ล้านบาท

“การส่งออกไทยถือว่าทำได้ดี แม้เมื่อหักการส่งออกน้ำมัน ทองคำ และอาวุธออกแล้ว ยังขยายตัวได้ 2.12% แสดงว่าอุตสาหกรรมที่แท้จริง (เรียล เซกเตอร์) ขยายตัวได้ดี โดยสาเหตุที่ทำให้ส่งออกพลิกกลับมาบวก เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง ทำให้ยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงถึง 17.59% กลุ่มอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น ทั้งทองคำ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โซลาร์เซลล์ ขณะที่กลุ่มอาหาร เช่น ผักผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกกักตัวอยู่ในบ้าน และยังได้ผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปกว่า 32 บาทต่อเหรียญฯ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น”

ส่วนปัจจัยที่กดดันการส่งออก มาจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ลดลงมาก และยังมีการลดลงของสินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา สำหรับตลาดส่งออกเดือน มี.ค.2563 พบว่า ตลาดหลักเพิ่มขึ้น 10.1% จากการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ที่บวกแรง 42.9% แต่ญี่ปุ่น ลด 2.8% และสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 14.8%, ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 3.6% จากการเพิ่มขึ้นของอาเซียนเดิม (5 ประเทศ) 6.8% ซีแอลเอ็มวี เพิ่ม 2.9% แต่จีน ลด 4.8% อินเดีย ลด 26.3% เกาหลีใต้ ลด 8.7% และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 6.2%

“เดือน มี.ค. ถ้าไม่นับผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก พูดได้ว่าการส่งออกไทยได้รับผลดีจากโควิด-19 มากกว่าผลเสีย เพราะทำให้การส่งออกอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด ผลไม้ ฯลฯ เพิ่มขึ้นมาก และคาดว่าความต้องการจะมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มมูลค่าส่งออกทั้งปี 2563 เชื่อว่าน่าจะใกล้เคียงกับ 0% หรือเป็นบวกได้นิดหน่อย แต่ไม่น่าติดลบมากถึง 10% อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะความต้องการอาหารต่างๆ ยังมีต่อเนื่อง มาตรการผ่อนคลายเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศต่างๆมีมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อได้ จีนกลับมาเปิดโรงงานได้เต็มที่”


แชร์ข่าวนี้