ตอบข้อสงสัย เชื้อ COVID-19 อยู่บนมือถือได้นานแค่ไหน?

รู้หรือไม่? โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน อาจเป็นพาหะชั้นดีของการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพราะเรามักหยิบจับมือถือกันอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ทันได้ระมัดระวังเรื่องความสะอาด

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่ทำให้เราป่วยเป็น COVID-19 นั้น ว่ากันว่าสามารถมีชีวิตบนพื้นผิวที่เป็นกระจกแบบโทรศัพท์มือถือได้นานถึง 96 ชั่วโมง หรือ 4 วันเลยทีเดียว!

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นการประเมินจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เคยเก็บข้อมูลการระบาดของโรคซาร์ส (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ไว้เมื่อปี 2003 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV ที่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับโรค COVID-19

ด้วยเหตุนี้ ในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้ที่เราสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้จากหน้าจอมือถือเช่นกัน เพราะโดยปกติคนส่วนใหญ่มักใช้มือมาสัมผัสใบหน้าของตัวเองบ่อยครั้ง ไม่ต่างจากการหยิบจับโทรศัพท์ ซึ่งผลการศึกษาหนึ่งจาก บริษัท Dscout พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนที่ใช้สมาร์ทโฟนจะหยิบมือถือบ่อยถึง 2,617 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว!

หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 ควรป้องกันตัวเองในเบื้องต้น ด้วยการทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ล้างมือบ่อย ๆ และล้างให้สะอาด เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสตา จมูกและปากนั่นเอง

“นพดล” แนะรัฐบาลควรตั้ง “กองทุนพยุงชีวิต” จากพิษเศรษฐกิจ

“นพดล” เรียกร้องถ้าจะตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น” ควรคิดตั้ง “กองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจ” ด้วย

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพทางตลาดทุน หรือ”กองทุนพยุงหุ้น” เพื่อแก้ปัญหาความผันผวนในตลาดหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจ ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งถ้าจะตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น” ขึ้นจริง รัฐบาลก็ควรตั้ง “กองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจ” ตามกฎหมายขึ้นด้วย เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาคนหางานทำไม่ได้ ตกงาน เตะฝุ่นและดูดฝุ่น PM2.5 ธุรกิจปิดกิจการ ซ้ำเติมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด 19 อีก

ปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจขนาดเล็กและหนี้สินภาคครัวเรือนลุกลามไปทั่ว เกิดวิกฤตหนี้ วิกฤตชีวิต จนมีคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนไม่น้อย บางครอบครัวตัดสินใจจบชีวิตพร้อมกัน นำความทุกข์และความเวทนาต่อญาติและประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าว ซึ่งหลายกรณีถ้ามีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแบบทันท่วงที อาจช่วยชีวิตพี่น้องไทยที่หมดหนทางเหล่านั้นได้

ตนจึงเสนอให้รัฐบาลตั้ง “กองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจ” และเปิดฮอตไลน์สายต่อชีวิตเพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินสำหรับประชาชนที่ประสบปัญหาการเงินเขาขั้นวิกฤตและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพื่อแสดงว่าเรายังห่วงใยพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยในชั้นแรกอาจจัดสรรงบประมาณตั้งกองทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แม้อาจไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกราย แต่ก็ดีที่ได้ทำ ถ้าเราพยุงหุ้นได้ เราควรพยุงชีวิตของพี่น้องที่ทุกข์ยากด้วย ทำเถอะครับ นอกจากดีในทางธุรกิจ ยังได้บุญด้วย มาตรการช่วยเหลือทางการเงินควรช่วยคนทุกระดับอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

ไวรัสโคโรนา: รัฐบาลตั้งเจ้าพนักงานคุมโรค กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองแล้วไม่พบไข้ ให้กลับไปเฝ้าดูอาการ 14 วัน ยังบ้านพักตามภูมิลำเนา โดยจะมีบุคลากรทางการแพทย์ ไปตรวจเยี่ยมเป็นประจำทุกวันจนครบ 14  วัน

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้(14 มี.ค.) ซึ่งนอกจากจะมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังหมายรวมถึงข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ รวมถึงข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่ว่าจะเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ เพื่อร่วมบูรณาการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสทุกพื้นที่

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เจ้าพนักงานจะมีอำนาจออกหนังสือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง เพื่อเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง โดยมีอำนาจในการเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนเพื่อประโยชน์ในการตรวจตรวจสอบด้วย นอกจากนี้ ในส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อำนวยความสะดวกแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับไปเฝ้าระวังอาการยังภูมิลำเนา พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันตัวเองแก่คนในชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือสำหรับผู้ไปกลับเฝ้าสังเกตอาการไม่ให้สร้างพฤติกรรมเสี่ยงต่อสาธารณะ โดยขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อสังเกตอาการเท่านั้น

กระทรวงพลังงาน ปลดล็อกเอทานอล 1 ล้านลิตร ผลิตแอลกอฮอล์เจลสู้ COVID-19

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัววันนี้ (13 มีนาคม 2563) ปลดล็อกเอทานอลผลิตเจล-แอลกอฮอล์ สู้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมีข้อความว่า

ปลดล็อกเอทานอลผลิตเจล-แอลกอฮอล์เพื่อใช้ทางการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาครับ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในไทยและทั่วโลกขณะนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลในเรื่องการกักตุนสินค้าจำเป็นต่อการป้องกันไวรัสโคโรน่าครับ ซึ่งปกติแล้วเอทานอลที่ผลิตเพื่อใช้ในภาคพลังงานจะมีการผสมน้ำมันเข้าไปเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือที่เรียกว่า Denatured Alcohol ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้กับทางการแพทย์ได้

ในส่วนที่ใช้ผลิตเป็นเจลและแอลกอฮอล์ทำความสะอาดทางการแพทย์นั้น กระทรวงพลังงานได้จับมือกับกรมสรรพสามิต ปลดล็อกเพื่อให้โรงงานผลิตเอทานอลสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์เร่งด่วนของไวรัสโคโรน่า โดยโรงงานและผู้ประกอบการสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่สรรพสามิตในพื้นที่ เพื่อลดขั้นตอนที่ตามปกติจะต้องขออนุญาตมาทางกระทรวงพลังงานด้วย มาตรการนี้จะมีไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นครับ

เราประมาณการกันว่าเอทานอลส่วนเกินที่นอกเหนือจากภาคพลังงานนี้ มีกำลังการผลิตจาก 26 โรงงาน อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะสามารถนำไปผลิตเจล-แอลกอฮอล์ทำความสะอาดในทางการแพทย์ ทั้งเพื่อบริจาค หรือ เพื่อจำหน่าย โดยที่ไม่เกิดผลกระทบต่อเอทานอลในส่วนที่นำมาใช้ในภาคพลังงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงานจะคอยติดตามสต็อกเอทานอลเพื่อให้เกิดสมดุลภายในประเทศครับ

ในสถานการณ์อ่อนไหวเช่นปัจจุบัน กระทรวงพลังงานพร้อมจับมือกับทุกภาคส่วน ลดขั้นตอน ลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ชีวิตพี่น้องประชาชนเกิดความปลอดภัยและมั่นใจในการทำงานของภาครัฐ เพราะพลังงานในยุคนี้ คือ “พลังงานเพื่อทุกคน”

ชายชาติทหาร! 6 ผบ.เหล่าทัพ ขอไม่รับเงินเดือนในตำแหน่ง ส.ว. หวังลบครหารับเงินสองทาง

วันนี้ (13 มี.ค. 63) พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงกระแสข่าว ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำเรื่องถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อของดรับเงินเดือน และเงินต่างๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา และเงินเดือนของผู้ช่วยดำเนินงาน ส.ว. นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ไปจนถึงเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2563 ที่จะเป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่ ส.ว.โดยตำแหน่ง ว่าเป็นความจริง โดยได้หารือร่วมกันในที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ส.ว.ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 113,560 บาท และสาเหตุที่คืนเนื่องจากไม่อยากให้สังคมมองว่า ผบ.เหล่าทัพรับเงินเดือนสองทาง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสังคมในสภาวะที่ประเทศประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทุกอย่างก็แล้วแต่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด

ไวรัสโคโรนา: บิ๊กตู่ ร่อนสารแจงทุกภาคส่วนตั้งใจทำงานสู้โควิด-19 วอนหยุดบิดเบือนให้ร้าย

วันนี้ (13 มีนาคม) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกสารนายกรัฐมนตรี เนื่องในสถานการณ์การระบาด COVID-19 โดยมีใจความระบุว่า

สารจากนายกรัฐมนตรี
สถานการณ์การระบาด COVID-19
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓

จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสปอดอักเสบ หรือ COVID-19 และสถานการณ์สาคัญอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในห้วงเวลานี้เราจึงควรที่จะร่วมมือ รักสามัคคีกัน เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้

เรื่องมาตรการรองรับการระบาดของ COVID-19 เรามีหลายอย่างที่แตกต่างด้วยอัตลักษณ์ ความคิดความอ่าน จำนวนประชากร รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งคงนำมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่ได้มากนักในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการขณะนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องนำข้อมูลจากต่างประเทศ แนวทางการปฏิบัติที่เป็นสากล และข้อมูลต่างๆ ในประเทศมาพิจารณาร่วมกัน มีองค์ประกอบหลายอย่างหลายมิติที่ต้องช่วยกันแก้ไข ทุ่มเท เสียสละ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ ต้องขอความกรุณาทุกส่วนช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ด้วยความเข้าใจใคร่ครวญ คิดวิเคราะห์ รับฟังและเชื่อมั่น เรื่องใดที่เป็นปัญหารัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ไข แต่หากยังคงมีการให้ข่าวบิดเบือน ให้ร้ายป้ายสีกันโดยจับแต่ประเด็นย่อยๆ ในขณะที่ทุกหน่วย ส่วนราชการกำลังทำงานใหญ่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนอยู่

ถึงแม้อาจสร้างความลำบากให้กับภาครัฐในการปฏิบัติงานบ้าง แต่แน่นอนยังคงต้องขับเคลื่อนทุกกลไกให้เกิดการประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการลงไป โดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เผชิญอยู่

ดังนั้นอยากจะขอร้องว่าถ้าอยากจะสื่อความหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้เป็นเรื่องๆ อย่างครบถ้วนทุกมุม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่เอาแต่มองว่าล้มเหลวไปเสียทั้งหมด หรือรัฐบาลไม่มีความสามารถบ้าง ทุกคนควรต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่าขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ไม่ว่าจะการระบาดของ COVID-19 ภัยแล้ง ปัญหาความยากจน และอื่นๆ

หลายประเทศมีการปกครองแตกต่างกัน มีอำนาจตามกฎหมายต่างกัน ประชาชนเชื่อฟัง เคารพกฎหมายต่างกัน หลายคนอาจมองว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ขอให้พิจารณาดูว่าวันนี้เรามีประชาธิปไตยเต็มที่แล้วหรือยัง สื่อโซเชียลออกข่าวโดยเสรีหรือไม่ มีใครไปห้ามหรือปิดกั้นหรือไม่ถ้าไม่ผิดกฎหมาย หากเราใช้มาตรการทางสังคมเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ เสนอหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์

สำหรับเรื่องบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทางานกันอย่างเต็มที่ ทั้งการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เสี่ยง การขุดเจาะน้ำบาดาล การจูงน้ำ การเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ อย่างไรก็ตามยังคงต้องทั้งกำกับดูแลทั้งน้ำต้นทุน แหล่งกักเก็บน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ การเติมน้ำ การระบายน้ำ การขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำมาแล้ว ๕ ปี และจะสามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้จำนวนมากหากฝนตกตามพื้นที่ตามฤดูกาลที่คาดการณ์ไว้ ปัญหาสำคัญคือการดาเนินงานโครงการใหม่ๆ ที่อาจต้องใช้เวลาบ้าง เนื่องจากจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน และไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ก็ต้องขอความร่วมมือกันต่อไป

เรื่องเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของประชาชนเป็นหลัก รายได้ของรัฐคงมาจากภาษีที่เก็บจากรายได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับอุปสงค์ อุปทาน การเกษตรก็ต้องสอดคล้องกับดิน สภาพอากาศ ความคุ้มทุน การค้าขายก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของผู้อุปโภคบริโภค หลายอย่างที่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเวลานี้ที่เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำ สงครามการค้า ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดโรค COVID-19 อีกด้วย รัฐบาลยืนยันจะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด

การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในห้วงนี้คงต้องดำเนินการในทุกเรื่องควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ เรื่องการระบาดของโรค COVID-19 อย่าได้ตื่นตระหนก มีสติ ระมัดระวัง รับผิดชอบรักษาสุขภาพตนเอง ผู้อื่น และสังคม รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนจะฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ไปได้ด้วยดี

“ธรรมนัส” เมินปมหน้ากากอนามัย ลั่นมาทำงานด้วยใจ-ไม่สะเทือนตำแหน่ง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมินปมหน้ากากอนามัย เชื่อถูกดิสเครดิตทางการเมือง มั่นใจไม่มีผลกระทบกับตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 23 ประจำปี 2563

ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะทำพิธีมอบหนังสืออนุญาตเข้าทำกิน ในที่ดิน สปก.ตามนโยบายรัฐบาล ให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม และ อ.นาทม จำนวน 225 ราย จำนวน 1,305 ไร่ เพื่อทำประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตร

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวอีกว่า ในเรื่องของปมหน้ากากอนามัยที่ตกเป็น ข่าว ตนได้มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดูแล ผิดว่าไปตามผิด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่กำกับดูแล จะเข้าไปตรวจสอบ ดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงการสอบสวนเอาผิด ผู้ที่ทำให้เสียหาย

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าเป็นกระบวนการดิสเครดิตทางการเมือง แต่ตนเชื่อมั่นว่า ตนเป็นคนทำงานด้วยใจ ไม่มีปัญหากับทางรัฐบาล และยืนยันที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร มั่นใจไม่มีผลกับตำแหน่ง

ศาลสั่งคุกตลอดชีวิต นปช.ฮาร์ดคอร์ ปาระเบิดใส่เวที กปปส. เมื่อปี 57

ศาลสั่งประหารแนวร่วม นปช. กลุ่มฮาร์ดคอร์ ปาบึ้มใส่เวที กปปส. อนุสาวรีย์ชัยฯ ตาย 1 เจ็บ 26 ราย – สารภาพเหลือโทษคุกตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ห้องพิจารณา 716 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดี ปาระเบิด ใส่กลุ่ม.กปปส ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็น โจทก์ฟ้อง นายกฤษฎา หรือดาไชยแค อายุ 49 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐาน ความผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา,กระทำให้เกิดการระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น และข้อหาอื่น

กรณีเมื่อวันที่19 ม.ค. 2557 เวลากลางวัน ขณะเกิดเหตุ นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กลุ่ม กปปส. ได้ตั้ง เวทีปราศรัยโจมตีการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น ) บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำเลยซึ่งเป็นแนวร่วมฮาร์ดคอร์ กลุ่ม นปช. ได้ ใช้ระเบิดสังหารขว้างใส่เวที กปปส. จนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 26 ราย ก่อนหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้านและถูกเจ้าหน้าตำรวจติดตามจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาดำเนินคดี จำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความพยานโจทก์ และพยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรม อย่างไรก็ตาม ศาลพิพากษา ให้ประหารชีวิตจำเลย คำให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิต

ลือสนั่น ชาวนอร์เวย์ป่วยโควิด-19 อยู่ที่บางแสน แม่ค้าชี้ น่าจะป่วยเพราะกินเหล้ามากกว่า

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 13 มี.ค. 63 กรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ ระบุว่า ลูกค้าชาวนอร์เวย์รายหนึ่ง มีอาการไอหนัก เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในบางแสน ต่อมาได้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ม.บูรพาตอนสองทุ่ม แพทย์แจ้งว่าปอดติดเชื้อ ต้องแอดมิด แต่ลูกค้าไม่ยอม เจ้าของโรงแรมจึงจำเป็นต้องปฏิเสธ ไม่ยอมให้พักต่อ และแนะนำให้แอดมิดตามคำแนะนำของแพทย์ 

ข้อมูลดังกล่าวถูกแชร์ต่อในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ที่พักชาวบางแสน สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก เกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ต่อมา โรงพยาบาลมหาวิทยาบูรพา จึงได้ออกข่าวชี้แจงว่า คนไข้รายดังกล่าวได้เข้ารับการตรวจจริง แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ครบ 3 ข้อคือ บินตรงมาจากนอร์เวย์โดยไม่แวะที่ใด ไม่มีไข้ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ ไม่สมัครใจแอดมิด ตรวจเสร็จก็กลับบ้านไป และเมื่อตรวจสอบกับทางโรงแรมคนไข้ได้เช็คเอาท์ออกไปแล้ว และมีไฟลท์กลับวันนี้ อาการก็ดูสบายดี ไม่ได้ไอ ไม่มีไข้ตั้งแต่แรก

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่โรงแรมต้นเรื่อง ที่บางแสน ปรากฏว่าได้มีพนักงานมีการนำน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อไปฉีดตามบริเวณต่างๆของโรงแรม โดยพนักงานบอกว่า เป็นฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเพียงห้องเดียวเท่านั้น 

ด้านแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ที่อยู่หน้าโรงแรมดังกล่าว เล่ากับผู้สื่อข่าวว่า ชาวนอร์เวย์ที่เป็นข่าวนั้น มาอยู่ไทยหลายวันแล้ว และมากินอาหารที่ร้านประจำ เท่าที่สังเกตก็พบว่าไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แต่สังเกตว่าชาวนอร์เวย์คนนี้ชอบดื่มสุรา วันละ 2-3 ขวด และไม่ค่อยกินข้าว คาดว่าอาการป่วยเกิดขึ้นมาจากไม่กินข้าว ประกิบกับดื่มสุราเยอะ ไม่ได้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด

กรณีที่มีการโพสต์ข้อความส่งต่อข่าวลือกัน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย ใครจะกล้ามาเที่ยวบางแสน ทำให้การท่องเที่ยวเสียหายหมด การค้าขายก็ไม่ดีอยู่แล้ว มาปล่อยข่าวอย่างนี้แม่ค้าจะอยู่ได้อย่างไร

“ลิเดีย” เตรียมพาคนในครอบครัวตรวจโควิด-19 วันนี้ ยันตนและลูกยังไม่มีอาการป่วย

ลิเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน โพสต์เล่าเหตุการณ์ แมทธิว ดีน สามี ตั้งแต่ยังไม่มีอาการป่วย กระทั่งไปตรวจพบเชื้อ พร้อมตั้งคำถามถึงปัญหาหลายประการที่อาจทำให้คนไทยเข้าถึงการตรวจได้ยาก และไม่แม่นยำ พร้อมยืนยันว่าตนเองและลูกๆ ทั้ง 2 คน รวมทั้งคนในครอบครัว จะเข้ารับการตรวจในวันนี้ ล่าสุดแมทธิวแยกไปกักตัวที่โรงพยาบาลแแล้ว ส่วนตนกับลูกยังไม่มีอาการป่วย 

ข้อความทั้งหมดระบุว่า 

“พี่แมทขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและเป็นห่วงทั้งครอบครัว พี่แมทขอโทษที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อน

ขอชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้นะคะ:

1. พี่แมทแทบจะไม่มีอาการเลย ไม่มีน้ำมูก ไม่มีไอ ไม่เจ็บคอ แต่เบื้องต้นเมื่อ 2 วันที่แล้ว ปวดเมื่อยเล็กน้อย (เข้าใจว่าจากออกกำลังกาย เพราะวันอาทิตย์ซ้อมหนักกลางแดด) ตามมาด้วยการคัดจมูกนิดหน่อยเหมือนเป็นภูมิแพ้ธรรมดาที่เค้าเป็น แต่วันต่อมาพี่แมทก็เป็นไข้อ่อนๆ 36.9 – 37 กว่า เลยไปเช็คที่ ร.พ. เผื่อจะเป็นอะไร

เมื่อถึงหน้าโรงพยาบาลก็จะมีการยิงปืน laser เพื่อวัดอุณหภูมิ ของพี่แมทบอกว่าไม่มีไข้ แต่ด้วยการที่เค้าไม่ค่อยเชื่อในความแม่นของ laser เค้าเลยขอตรวจอย่างละเอียด และผลตรวจคือ 38.3 มีไข้ (เพราะฉะนั้นการตรวจโดยปืนยิงเลเซอร์แบบนี้ตามที่ต่างๆ อาจจะไม่ได้แม่นยำเท่าไหร่นัก) พี่แมทไปตรวจเมื่อวานนี้คือวันที่ 12 มีนาคม 2563

2. ขั้นตอนต่อไปหลังจากรู้ว่ามีไข้คือ swab จมูกเพื่อตรวจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ไหม ผลรู้ภายใน 1 ช.ม. ซึ่งพี่แมทไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ คุณหมอให้ตรวจต่อ Virus อีก 21 สายพันธุ์ ผลรู้ภายใน 8 ช.ม. แต่คุณหมอแนะนำต่อให้ตรวจเช็ก COVID-19 เพิ่ม ซึ่งผลจะรู้วันรุ่งขึ้น คุณหมอส่งตัวพี่แมทกลับบ้านพร้อมคำแนะนำการปฏิบัติเบื้องต้น เราจ่ายค่าตรวจไปทั้งหมด หมื่นกว่าบาท (แล้วคนที่ไม่สามารถจ่ายเท่านี้จะมีการตรวจไหม?)

3. กลับมาถึงบ้านพี่แมทแยกตัวออกจากทุกคนในบ้านเพื่อป้องกันไว้ก่อนระหว่างที่รอผล พี่แมทสั่งปิดค่ายมวยทันทีเผื่อว่าผลออกมาว่าเป็นบวก คืนนั้นก็ทราบผลว่า 21 สายพันธุ์ไม่ได้เป็น ต้องรอผล COVID-19 วันรุ่งขึ้น ซึ่งช่วงตอนกลางวันที่ผ่านมาก็ได้รับการยืนยันว่าเป็น (13 มีนาคม 2563)

4. มันคือการรับผิดชอบต่อทุกคนและต่อสังคมที่จะต้องแจ้งให้ทราบนะ เพราะคนที่เจอเราและคนอื่นๆ จะได้เฝ้าระวังและป้องกันปฏิบัติในทางที่ดีที่สุด ปัญหาตอนนี้คือ เราควรระวังกันกี่ต่อ? คนที่เจอพี่แมทต้องกักตัว แล้วคนที่เจอเดียต้องกักตัว แล้วคนที่เจอคนที่เจอเดียต้องกักตัวไหม? ใครบ้างที่ควรไปตรวจ? ต้องรอมีอาการก่อนไหม? อันนี้ไม่โทษใคร หรือคิดว่าใครจะมีคำตอบนะ แต่แค่ระบายถึงปัญหาของโรคใหม่ที่มีข้อมูลน้อย

5. ตอนนี้พี่แมทได้มีรถมารับไปที่โรงพยาบาลเรียบร้อย ทางครอบครัวไม่สามารถเยี่ยมหรือเจอได้เท่าที่เจ้าหน้าที่บอก ต้องอยู่เฝ้าดูแลรักษาจนกว่าจะตรวจแล้วไม่พบเชื้อ

6. ทางครอบครัวทุกคนจะไปตรวจวันพรุ่งนี้ ตอนนี้คนในครอบครัวยังไม่มีอาการ ไม่มีไข้ ลูกๆ ยังปกติ

ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบค่ะ ดูแลตัวเองด้วยนะคะ มันใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด และจำนวนของคนที่เป็นคงมากกว่าที่เรารู้”